รู้จักประเภทของปุ๋ยอินทรีย์ ทำเกษตรปลอดสารเคมีอย่างปลอดภัย

ปุ๋ยอินทรีย์คือ ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบที่มาจากอินทรีย์วัตถุชนิดต่างๆ ได้แก่ซากพืช ใบไม้ มูลสัตว์ หมักย่อยสลายจนเกิดสารอาหารที่พืชต้องการ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งแบ่งเป็น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยแต่ละชนิดจะมีประโยชน์และสรรพคุณที่แตกต่างกัน  แต่ประการหลัก คือ จะช่วยให้พืชผลเจริญงอกงามดี

ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เช่นเดียวกับต้องการแสงแดดและน้ำ พูดง่ายๆ เราต้องใส่ปุ๋ยในไร่นา แปลงผัก สวนสวย พืชผลจึงจะงามดี ปุ๋ยอินทรีย์ เปรียบเสมือนโรงงานแปรสภาพธาตุอาหารที่ในดินให้กลับมาอยู่ในรูปของปุ๋ย ซึ่งรากพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ “ปุ๋ย” กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

•“ปุ๋ย” เม็ด ให้อาหารต้นไม้ที่คุณรัก 
•ไปรู้จัก ปุ๋ย ทั้ง”ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี” ต่างกันอย่างไร

ปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยเม็ด ข้อดีของปุ๋ยเม็ดคืออุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ต้นไม้ต้องการ แต่การปลูกผักโดยใช้ปุ๋ยเคมีในจำนวนมากๆ ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืชผักได้เช่นกัน ดังนั้นปุ๋ยอินทรีย์จึงเป็นเหมือนทางออกสำหรับคนรักสุภาพและอยากได้อาหารที่ปลอดภัย วันนี้บ้านและสวนจะพาไปรู้จักชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ว่ามีกี่ชนิด และแต่ละชนิดใช้งานอย่างไรกันบ้าง

ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์แบ่งประเภทเป็นปุ๋ยต่างๆ ดังนี้

ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยหมัก

เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกชนิดหนึ่งที่ได้จากการหมักวัตถุดิบเหลือทิ้งที่เป็นสารอินทรีย์บางชนิด เช่น แกลบ ใบไม้ กิ่งไม้ เศษอาหาร เกิดจากนำวัตถุดิบเหล่านั้นมากองรวมกัน รดน้ำให้ชื้น ทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ย่อยสลาย โดยสามารถใช้จุลินทรีย์อื่นๆ อย่าง กากน้ำตาล, E.M.  ผสมเพื่อเพิ่มขบวนการย่อย จากนั้นนำไปใช้ปรับปรุงดิน ปุ๋ยหมักมีทั้งแบบแห้งและแบบน้ำที่เกิดวัตถุดิบที่น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ อาทิ กาบกล้วย ผลไม้ พืชอวบน้ำทุกชนิด

การนำปุ๋ยหมักไปใช้

การใช้ปุ๋ยหมักควรพิจารณาชนิดดินและชนิดพืชด้วย เช่นดินที่เสื่อมโทรมหรือมีความชื่นต่ำก็ควรใส่ปุ๋ยหมักในปริมาณมาก ดังนั้นจึงมีวิธีการใส่ปุ๋ยหมักหลายวิธี

1.ใส่ปุ๋ยหมักในการเตรียมแปลงปลูกในขั้นตอนเตรียมดิน ทั้งปลูกผัก ไม้ผล และไม้ดอกประดับ โดยผสมกับดินร่วนเพื่อให้มีธาตุอาหารสมบูรณ์

2.ใส่เป็นปุ๋ยแต่งหน้ารอบโคนต้นไม้ เมื่อพืชเจริญเติบโตแล้วในระยะหนึ่ง เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้พืชที่ปลูก

•ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร ในครัวเรือน

ปุ๋ยพืชสด

เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการไถกลบพืชบางชนิด ขณะที่เจริญเติบโตในระยะเริ่มออกดอกถึงระยะดอกบานแล้วคลุกเคล้าลงดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้ดีขึ้น เมื่อซากพืชที่ไถกลบถูกย่อยสลายโดยสมบูรณ์แล้ว จึงค่อยปลูกพืชหลักหรือพืชเศรษฐกิจต่อไป พืชสดที่นิยมปลูกเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้ดิน ได้แก่ ปอเทือง โสนแอฟริกัน พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วเขียว ถั่วลิสง เป็นต้น ประโยชน์จากปุ๋ยพืชสดนั้นช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มไนโตรเจนให้ดิน รักษาปริมาณธาตุอาหารในดินและป้องกันการชะล้างหน้าดินได้

การใช้ปุ๋ยพืชสดในทางเกษตร 

พืชที่เหมาะกับปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด ควรเลือกชนิดที่ไถกลบง่ายมีลำต้นเปราะ เติบโตได้ดีในดินเหลว และทนแล้งได้ดีแบ่งปลูกได้เป็น 3 วิธีคือ

1.ปลูกพืชสดในพื้นที่แปลงใหญ่ แล้วทำการตัดสับและไถกลบในพื้นที่นั้นเลย

2.ปลูกพืชสดแซมในระหว่างร่องพืชหลักที่ทำการปลูก

3.ปลูกพืชสดในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วตัดสับเอาส่วนของพืชสดนำมาใส่ในแปลงที่จะปลูกพืชหลักแล้วไถกลบลงไปในดิน

ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยคอก

ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งขับถ่ายของสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในรูปของเหลวและของแข็ง ส่วนใหญ่เป็นมูลสัตว์เลี้ยงทางการเกษตร เช่น วัว ไก่ เป็ด และสุกร ทั้งนี้ยังมีมูลสัตว์อื่นๆอย่าง ปุ๋ยมูลไส้เดือน ปุ๋ยมูลค้างคาว เป็นที่นิยมอีกด้วย ปุ๋ยคอกอุดมไปด้วยสารอาหารที่ต้นไม้ต้องการมากน้อยตามแต่ชนิดของสัตว์ สามารถใช้ได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง รวมทั้งแบบที่ผ่านกระบวนการอัดเม็ดเพื่อให้ขนย้ายได้สะดวกง่ายต่อการขนส่งได้ด้วย ปุ๋ยคอกช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้พืช ให้ธาตุอาหารพืชในลักษณะต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพนานกว่าปุ๋ยเคมี ช่วยปรับปรุงดินและรักษาหน้าดินได้ ให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี

การนำปุ๋ยคอกไปใช้

ใช้ผสมดิน เป็นวัสดุปลูกร่วมกับอินทรีย์วัตถุอื่นๆ เช่นใบไม้ กิ่งไม้ หากใช้ปุ๋ยคอกสดควรผสมดินเตรียมปลูกแล้วไถกลบทิ้งไว้ 10-15 วันเพื่อให้ปุ๋ยคอกสดคลายความความร้อนซึ่งต้องดึงไนโตรเจนในดินมาใช้ หากใช้กับพืชโดยตรงจะทำให้พืชมีใบเหลืองและตายได้ แต่หากใช้ปุ๋ยคอกแห้ง สามารถผสมดินปลูกได้ทันที หรือโรยรอบโคนต้นสำหรับเพิ่มธาตุอาหารให้ต้นไม้ที่โตแล้ว

ปุ๋ยชีวภาพ

เป็นอีกปุ๋ยชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงดิน ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ ชีวเคมี และการย่อยสลายของอินทรีย์หรืออนินทรียวัตถุ ซึ่งมีแบททีเรียบางชนิดที่แฝงตัวอยู่ในรากพืชตระกูลถั่วอย่างไร โซเดียมที่สามารถตรึงสารไนโตรเจนเพื่อทำเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยชีวภาพที่คุ้นชื่อกันดีคือ E.M. หรือ Effective Microorganisms เป็นการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (Photosynthetic bacteria) เป็นอีกหนึ่งประเภทของ E.M.

ปุ๋ยชีวภาพ ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นธาตุอาหารแก่พืช ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งยังช่วยสร้างฮอร์โมนและต่อต้านโรคพืชบางชนิด ทำให้มีผลผลิตสูงคุณภาพดี

การนำปุ๋ยชีวภาพไปใช้

ใช้กับพืชได้ทุกประเภท  เช่น  ข้าว  ข้าวโพด  ถั่วเขียว  ถั่ว  ไม้ดอกไม้ประดับ ใช้ฉีด พ่น รด ราด พืช ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ สัปดาห์ละครั้ง ใบและดอกจะดกบาน หากใช้กับไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ชมพู่ เงาะ ทุเรียน ฯลฯ ฉีดพ่น รด ราด เดือนละครั้ง ควรใช้ช่วงเย็นแสงแดดอ่อนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน

ปุ๋ยอินทรีย์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือปุ๋ยอินทรีย์ เขียนโดย รองศาสตราจารย์มุกดา สุขสวัสดิ์ ซึ่งรวบรวมวิธีปรุงปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองภายในครัวเรือนไว้หลากหลายสูตร สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน 

เรียบเรียงโดย : ธนิศรา วรรณสว่าง

สั่งซื้อที่นี่


บทความที่น่าสนใจ