โรงเรือนปลูกผัก ปลอดสารเคมี สร้างสวนหลังบ้านให้เป็นอาหารชั้นดี

ทันทีที่เห็นภาพสวนผักและ โรงเรือนปลูกผัก ปลอดสารเคมี ของแพทย์หญิงรังสิมา-นายแพทย์ชาญชัย พิณเมืองงาม ที่อุดมไปด้วยผักสดหลายชนิดในบรรยากาศที่ดูสะอาดตา ทำให้นึกถึงเทรนด์ Farm to Table ที่เป็นอีกกระแสแรงในต่างประเทศขึ้นมาทันที และก็เป็นอย่างที่คิดเพราะแนวคิดของการปลูกผักทานเองของคุณหมอมีจุดประสงค์ไม่ต่างกันกับรูปแบบ Farm to Table คือได้อาหารที่มีความปลอดภัย สดใหม่ ตรงตามฤดูกาล

คุณหมอเล่าประสบการณ์การสร้างสวนครัวที่มี โรงเรือนปลูกผัก ปลอดสารเคมี ในพื้นที่สวนหลังบ้านด้วยความยินดีว่า “เริ่มจากคุณหมอผู้ชายชอบทานผักสดนอกบ้านค่ะ แล้วเกิดอาการท้องเสีย บวกกับจะออกไปทานข้าวนอกบ้านเราสองคนก็ไม่ค่อยมีเวลา หมอก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีให้มีผักกินสด ๆ ใหม่ ๆ ทานเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงด้วย จะซื้อผักตามท้องตลาดกว่าจะมาถึงเรานั้นก็ไม่สดแล้ว ไหนจะสารเคมีตกค้างอีก เลยทดลองหาวิธีปลูกผักเองค่ะ ”

แต่กว่าจะได้แปลงผักสวนครัวที่สมบูรณ์แบบนี้ คุณหมอใช้เวลาเรียนรู้ ฝึกหัด ทดลอง และอดทนมานานกว่า 3 ปี โดยมีคุณครูคนสำคัญชื่อว่า Google

โรงเรือนปลูกผัก
ภายในโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิก มะเขือเทศออกผลสีแดงสด
โรงเรือนปลูกผัก
ตัวโรงเรือนขึ้นโครงเหล็กมุงด้วยหลังคาไฟเบอร์กลาส และแผ่นพอลิคาร์บอเนตโปร่งแสง
โรงเรือนปลูกผัก
รอบ ๆ โรงเรือนจัดให้มีมุมนั่งเล่นสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ 

 

โครงสร้าง โรงเรือนปลูกผัก

เริ่มต้นคุณหมอเสิร์จ Google หาข้อมูล ไปเจอแบบแปลงผักหลังบ้านในต่างประเทศสวย ๆ ก็ทดลองปลูกในกระถางก่อน แล้วพอเริ่มสนุกบวกกับได้ที่ดินข้างบ้านมาเพิ่ม จึงขยายมาเป็นปลูกลงแปลง ทำเป็น โรงเรือนปลูกผัก อย่างจริงจังบนที่ดิน 70 ตารางวา โรงเรือนปลูกผัก แบ่งเป็น 3 หลัง ใช้โครงสร้างเหล็กมุงหลังคาโปร่งแสงด้วยไฟเบอร์กลาส และแผ่นพอลิคาบอร์เนต ตัวหลังคาทำหน้าที่ช่วยบังแดดให้ผัก เช่นเดียวกับโรงเรือนปลูกผักชาวสวนที่มุงด้วยแผ่นสแลนสีดำ แต่คุณหมออยากให้สวนผักดูสะอาดสวยงามจึงจะใช้เฉพาะช่วงที่แดดแรงจัดอย่างฤดูร้อนเท่านั้น แล้วเลือกใช้พัดลมไอน้ำ และกางมุ้งขาวช่วยลดความร้อนอีกที

การแบ่งโซนในสวน คุณหมอเล่าว่า ตนเองนั้นไม่ใช่มืออาชีพจึงเลือกทำไปทีละส่วน แบ่งตามชนิดของผักที่เลือกปลูก เพื่อกำหนดที่ตั้งของแปลงผัก โดยทั่วไปแล้วผักกินใบจะชอบแสงเช้า ส่วนผักกินผลจะชอบแดดจัด จึงมีทั้งส่วนที่เปิดโล่งและมุงหลังคา นอกจากนี้ยังกำหนดมุมใช้งานอื่น ๆ อย่างโซนหมักปุ๋ยผสมดิน โซนเก็บอุปกรณ์ทำสวน อ่างสำหรับล้างมือ ล้างผัก และที่ขาดไม่ได้คือมุมพักผ่อนหย่อนใจ ที่คุณหมอบอกว่าเราทำงานเหนื่อย ๆ เครียด ๆ ก็อยากมีมุมไว้นั่งชมสวนผักของเรา จึงมีทั้งซุ้มศาลา และลำธารน้ำเล็ก ๆ ในโรงเรือนปลูกผักแห่งนี้ด้วย

โรงเรือนปลูกผัก
แปลงปลูกเซตแรกทำจากซีเมนต์ขึ้นรูป กรุตกแต่งด้วยกระเบื้องลายหิน
แปลงผักก่อด้วยอิฐมอญสูงประมาณ 50 เซนติเมตร

 

รูปแบบแปลงผัก

Raised beds Garden ของหมอดัดแปลงไอเดียที่มาเป็นแบบของเราค่ะ ตอนแรกก็ให้ช่างทำแปลงซีเมนต์เป็นกระบะก่อน ความสูงก็ประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ต่อมาก็รู้ว่าความสูงมันน้อยไปก้มเงยไม่สะดวก  เลยทำแปลงใหม่เพิ่มให้มีความสูงมากขึ้น ใช้บล็อกอิฐที่เหลือจะทำรั้วบ้านก่อเป็นแปลงขนาดใหญ่ สูงเกือบเท่า ๆ โต๊ะอาหาร จะปลูกผักที่มีรากลึกก็ได้ เปลี่ยนดินปลูกใหม่ก็สะดวก แต่ในบางมุมหมอเองก็ต้องการความสวยงาม จึงมีแปลงผักจากตะแกรงหินกรวดแม่น้ำรูปทรงฟรีฟอร์ม แปลงผักจากอิฐมอญผสมด้วย ระยะห่างของแต่ละแปลงกว้างกว่า 1 เมตร ปูด้วยแผ่นทางเดินสำเร็จรูป หมอเลือกให้กว้างขวางไว้ก่อนจะได้เดินได้สะดวก เวลาลากกระสอบดิน เดินรดน้ำดูแล ทำได้คล่องและปลอดภัยมากกว่า”

รูปแบบของค้างสำหรับผักเลื้อยในสวนแห่งนี้ ก็ดูจะเก๋ไม่เบา โดยคุณหมอสร้างโครงเหล็กทรงสี่เหลี่ยม แล้วใช้เชือกสานเป็นตาข่าย ปล่อยให้ผักเลื้อยไต่ตามเชือก ทั้งช่วยบังแดดให้แปลงผักที่อยู่ด้านล่างได้ด้วย ระดับความสูงอยู่ในระดับสายตา ให้มองเห็นผลขณะเก็บได้ชัด ๆ

โรงเรือนปลูกผัก แปลงผัก
หยิบไอเดียจากต่างประเทศมาทำเป็นแปลงผักในแบบเฉพาะ ใช้หินกรวดแม่น้ำตกแต่งเป็นกระบะปลูกทรงฟรีฟอร์ม
ค้างจากเชือกสานลายตาราง สำหรับมะระจีนที่กำลังเติบโต
ใช้เชือกสานทำเป็นค้างไม้ผักเลื้อยได้พันเกี่ยว

โรงเรือนปลูกผัก ผักสวนครัว
ผักที่เติบโตเต็มที่ในช่วงฤดูหนาวของปีก่อน ภาพจากคุณหมอรังสิมา
ผักที่เติบโตเต็มที่ในช่วงฤดูหนาวของปีก่อน ภาพจากคุณหมอรังสิมา

 

ชนิดผักที่ปลูก เลือกที่ชอบและปลูกได้จริง

“อย่างแรก ๆให้เลือกผักที่ตนเองชอบทานก่อนค่ะ หรือคนในครอบครัวชอบ แล้วค่อยเลือกผักที่ใช้ทำอาหารประจำ และผักตามฤดูกาล เลือกให้เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราด้วยค่ะ ที่นี่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ผักกินใบอย่างคะน้า ผักกวางตุ้ง ก็ปลูกได้ แต่ผักเมืองหนาว อย่างสลัด มะเขือเทศ ก็จะไม่งามเท่าช่วงฤดูหนาว สวนของหมอในช่วงฤดูหนาวผักจึงสวยมาก ต่างช่วงฤดูร้อนอย่างเห็นได้ชัด

“ในสวนมีทั้งผักที่เป็นพืชระยะกลางอย่าง ชะอม ตะไคร้ มะนาว ปลูกครั้งเดียวเก็บทานได้ตลอด และผักที่เป็นพืชระยะสั้น มีตามฤดูกาลบ้าง อย่าง แตงกว่า มะเขือเทศ คะน้า ต้นหอมผักชี มะระจีน แครอท หัวไชเท้า เมล็ดพันธุ์ก็หาซื้อได้ง่าย ๆ ในท้องตลาด บางครั้งเพื่อน ๆ ก็ให้มา หรือจะสั่งซื้อเป็นซองตามอินเทอร์เน็ตก็มี ชนิดไหนเราไม่รู้วิธีปลูกก็ถามคุณครู Google เลยค่ะ ข้อมูลมีมากมายให้เราทำตามได้ อย่างแครอทก็ปลูกง่าย หมอทำคลิปของคุณธงชนะ พรหมมิ ซึ่งสอนดีมาก ทำตามไม่ยาก ทำให้เราเข้าใจว่าพืชกินหัวคือรากผักที่เติบโต หากให้อาหารที่เหมาะสม เมืองร้อนอย่างบ้านเราก็ปลูกได้สบาย”

•ชนิดผักและแบบสวนสำหรับปลูกผักพื้นบ้าน
•ปฏิทินปลูกผัก ปลูกอย่างไรให้มีผักกินทั้งปี
มะเขือเทศจากสวนฤดูร้อน และผักคะน้าสด ๆ ตัดจากแปลง ทริคในการตัดก้านคะน้าคือให้เหลือใบเลี้ยงไว้ 2 ใบ เพื่อให้เขาได้แต่หน่อเพิ่ม จะได้คะน้าเซตใหม่โดยไม่ต้องปลูกอีก
หลังจากผสมดินแล้วใช้พลาสติกคลุมหน้าดินไว้เพื่อให้จุลินทรีย์ได้เติบโต ประมาณ 2 สัปดาห์ก็ปลูกผักได้

 

สำคัญที่สุดก็คือ ดิน

“ดิน คือกุญแจสำคัญของการปลูกผักสวนครัวค่ะ ตอนแรก ๆ หมอก็ท้อใจค่ะ ทำไมเราปลูกไม่สวยเหมือนคนอื่นเขา จนมาค้นพบว่า อ๋อ เป็นเพราะดินที่ใช้ปลูก ดินดีปลูกอะไรก็งาม เราก็ไปถามคุณครู Google อีกเช่นเคยค่ะ คราวนี้เจอครูป้อม ศิริกุล ซื่อต่อชาติ สอนการปรุงเดิน ได้สูตรผสมดินมาคือใช้ดิน ผสมปุ๋ยคอกมูลวัว ใส่ใบไม้แห้งที่เก็บจากสวนหน้าบ้าน ใส่ใบไม้สด รดน้ำหมักชีวะภาพ หรือEM ช่วยย่อยใบไม้สด เติมกากน้ำตาลเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ ผสมไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ ก็ใช้ได้ พอปลูกผักแล้วเห็นความต่างอย่างชัดเจนเลยค่ะ ผักฟูสวยอย่างเห็นได้ชัด ดีใจมากก็ตอนแบ่งปันให้น้อง ๆ ที่โรงพยาบาลค่ะ บอกว่าผักสลัดของหมอทำไมกรอบแบบนี้ สดใหม่ ไม่เหมือนที่จำหน่ายในตลาดเลย”

ต้นกล้าอ่อนควรได้รับดินที่มีสารอาหารครบ

“ดินสำหรับปลูก หมอรวมถึงดินเพาะเมล็ดด้วยนะคะ บางคนอาจจะให้ความสำคัญเฉพาะตอนที่ปลูกลงแปลงเท่านั้น แต่หมอคิดว่าผักที่จะสวยงามเติบโตดี ต้องเริ่มจาก “เมล็ดที่สมบูรณ์งอกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม” ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะต้นอ่อน หากรากที่งอกใหม่ไม่แข็งแรง ไปเจอดินดีแค่ไหนก็โตไม่เต็มที่ แต่ถ้ารากดี เจอดินดี ก็โตเร็ว หมอจึงผสมดินให้ได้ธาตุอาหารครบตั้งแต่ตอนเป็นต้นกล้าเลยค่ะ”

•สูตรมาปรับปรุงและฟื้นฟูดินในสวน

ระบบน้ำหยดในแปลงผัก

ท่อให้น้ำเลี้ยงราก ปักให้มียอดเหนือดินแล้วรดน้ำลงไปในท่อ

 

ระบบน้ำดูแลสวนและ โรงเรือนปลูกผัก

การรดน้ำสวนมี 2 ระบบคือระบบน้ำหยด เดินท่อลงแปลงผักโดยตรง ที่ตั้งเวลาเปิด-ปิดอัตโนมัติ ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลสวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคุณหมอก็ชอบลดน้ำเองเสียมากกว่า เพราะอยากดูแลชื่นชมผักที่กำลังเจริญเติบโตไปด้วย ส่วนอีกรูปแบบเป็นระบบพ่นไอหมอก ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดอุณหภูมิให้บริเวณภายในโรงเรือนให้เย็นลง อันนี้ก็เป็นผลดีตอนเข้าไปทำสวนด้วยจะได้ไม่รู้สึกร้อนเกินไป

ทริคการให้น้ำอีกจุดคือ การให้น้ำทางท่อ ผักบางชนิดอย่างมะเขือเทศที่ปลูกอยู่ในแปลงมีรากหยั่งลึกทำให้น้ำที่รดนั้นซึมเข้าถึงได้ยาก การให้น้ำทางท่อคือการใช้ท่อพีวีซีเจาะรูแล้วเสียบลงไปยังบริเวณรอบ ๆ โคนต้น ให้เหลือปลายท่อสำหรับรดน้ำลงไป น้ำก็จะเข้าถึงรากต้นไม้ได้ดีขึ้น

•วิธีรดน้ำต้นไม้แบบประหยัดน้ำด้วย ระบบน้ำหยด และผองเพื่อน
•ข้อควรรู้สักนิด…ก่อนติดสปริงเกอร์
จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่คุณหมอทดลองผสมเอง

 

ปุ๋ย อาหารหลักของสวนผักปลอดสารเคมี

ผักปลอดสารพิษ แน่นอนว่าอีกปัจจัยสำคัญคือการให้ปุ๋ย ในแปลงผักของคุณหมอไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ แทน

“เริ่มแรกใช้ปุ๋ยหมักที่ได้มาเจ้าหน้าโรงพยาบาลที่คุณหมอทำงานอยู่ค่ะ ไปขอซื้อมาใช้ในช่วงเริ่มต้น แต่พอใบไม้ในบ้านเยอะก็เริ่มทำปุ๋ยหมักเอง เป็นปุ๋ยหมักใบไม้แห้งแบบไม่กลับกอง สูตรของอาจารย์ที่แม่โจ้ อันนี้ก็เสิร์จเจอจากคุณครู Google เช่นกัน แล้วก็มีใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพ และทำปุ๋ยเองจากเศษอาหารในครัวเรือน ตอนนี้ก็มีทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งกำลังทดลองทำตามสูตรที่คนอื่น ๆ ใช้น้ำจากบ่อบัวในสวนผสมกับไข่ น้ำปลา ผงชูรส ใส่ขวดพลาสติกใส ตากแดดไว้ พอได้สีแดงเข้มก็เป็นอันใช้ได้ ”

•ไปรู้จักปุ๋ย ทั้ง”ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี” ต่างกันอย่างไร
ปุ๋ยหมัก
มุมผสมปุ๋ยหมักใบไม้แห้งแบบไม่กลับกอง
สูตรการให้ปุ๋ยอีกแบบคือ “ปุ๋ยบุพเฟ่แปลงผัก” วิธีนี้เป็นไอเดียที่น่าสนใจทีเดียวคือ การใช้ตะกร้าพลาสติกฝังลงไปในแปลงปลูกแล้วเทเศษอาหารในครัวเรือน และเศษใบไม้ลงไป ใส่น้ำหมักชีวภาพช่วยดับกลิ่น และย่อยเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย รากผักที่เป็นรากฝอยจะยื่นตัวมาดูดซึมปุ๋ยเอง
บุพเฟ่แปลงผัก
ปุ๋ยบุพเฟ่แปลงผัก มีตะกร้าปุ๋ยหมักอยู่ตรงกลาง
บุพเฟ่แปลงผัก
เศษอาหารและใบไม้ในตะกร้า บุพเฟ่แปลงผัก
โรเงรือนปลูกผัก
วิธีกันแมลง โครงมุ้งทำจากท่อพีวีซี ดัดโค้งง่าย ๆ ส่วนมะระห่อด้วยผ้ามุ้งเช่นกัน คุณหมอเรียกเล่น ๆ ว่า มะระเจ้าสาว

แมลง ศัตรูผักตัวร้าย

เพราะเป็นแปลงผักที่ไม่ใช้สารเคมี แมลงและสัตว์ต่างจึงรุกล้ำเข้ามาในสวนได้ง่าย จนครั้งหนึ่งคุณหมอเจอหนอนผีเสื้อ และแมลงรุมกินผักไม่เหลือจึงหาวิธีป้องกันคือ การกางมุ้งให้แปลงผัก

“เรารู้สึกว่าการป้องกันมันง่ายกว่ารักษา เหมือนการรักษาโรคค่ะ การป้องกันไม่ให้แมลงมาเกาะมาวางไข่มันง่ายกว่า ความจำเป็นบังคับเราไม่อยากเจอหนอน เจอแมลง ดูแลยาก จึงเลือกกางมุ้งดีกว่า เริ่มแรกเราใช้มุ้งสำหรับคนที่ใช้กันยุงตามบ้านค่ะ สีชมพูเหลืองฟ้าเขียววางสลับกันสีสันมุ้งมิ้งมาก ใครเห็นก็ต้องอมยิ้ม ตอนหลังมันเริ่มเปื่อย หมอเลยเลือกใช้มุ้งที่ใช้ทำโรงเรือนเลยดีกว่า ซื้อเป็นม้วนมาเย็บเอง โครงมุ้งก็ซื้อท่อ PVC ที่โฮมโปรหน้าบ้าน เป็นท่อสำหรับร้อยสายไฟนะคะ ขนาดเล็ก อ่อนดัดง่าย  ถ้าใช้ท่อประปาจะแข็งเกินไปดัดไม่ไหว บางจุดก็ใช้เส้นลวดดัดเป็นตัวยูเสียบเข้าไปก็ง่ายเหมือนกัน เราชอบงานช่างอยู่แล้วทำเองเลยดีกว่ามันได้ดั่งใจแบบที่เราต้องการ”

•กำราบเพลี้ยแป้งในสวนให้สิ้นฤทธิ์แบบไม่ใช้สารเคมี
โรงเรือนปลูกผัก
คุณหมอรังสิมา เจ้าของสวนผักออร์แกนิคหลังบ้าน

ความสุขจากสวนผักหลังบ้านใน โรงเรือนปลูกผัก แห่งนี้ คุณหมอเล่าด้วยแววตาแห่งความชุ่มใจว่า

“มันเหมือนเป็นชีวิตใหม่อีกชีวิตที่เพิ่งค้นพบเลยค่ะ เป็นความสุขทางใจที่ได้เห็นคุณหมอผู้ชายทานผักที่เราปลูก ชอบดูเขากินผักอร่อย ๆ ของเรา เราเองก็ได้อาหารปลอดภัย สดใหม่ เดินไปตัดจากสวนได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราเองจะไม่ชอบทานผักเลยก็ตาม”

จบหักมุมอยู่สักนิด! แต่เห็นความสุขความตั้งใจของคุณหมอแล้ว สะท้อนให้เห็นเลยว่า เกษตรอินทรีย์ในเมืองที่มี โรงเรือนปลูกผัก เป็นของตนเอง ก็ไม่ไกลเกินความสามารถที่จะปลูกผักออร์แกนิกเช่นเจ้าของสวนผักแห่งนี้ได้  อย่างที่คุณหมอบอกไว้ว่า”คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้เช่นกัน”


เรื่อง JOMM YB

ภาพ ธนกิติ์ คำอ่อน


ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm

สวนผัก จัดสวย ปลูกประดับบ้านเป็นอาหารประจำครัว

สวนผักหลังบ้าน สำหรับเจ้าตัวเล็ก

รู้จักเกษตรทฤษฎีใหม่ ในวิถีคนเมือง