ไอเดียแต่งผนังสวยด้วยร่องรอย

2.6 ทาสีลงร่องแล้วเช็ดหน้าออก

ผนังอิฐ

เทคนิคนี้กลับกันกับข้อที่แล้ว คือการทำสีในร่องของผนังอิฐ ซึ่งช่วยให้แนวผนังอิฐที่อาจดูดิบสามารถเชื่อมโยงกับการตกแต่งอื่นๆได้ง่ายขึ้น เช่น การเลือกใช้สีขาวมาตัดเส้นเพื่อให้ดูเรียบร้อยขึ้น

ลองทำ
ความยาก +

สามารถทำได้สองวิธี คือการค่อยๆใช้แปรงทาสีลงในร่องอิฐ และการทาสีทับร่องอิฐแล้วค่อยใช้ฟองน้ำหรือผ้าเช็ดสีออกจากหน้าก้อนอิฐ

2.7 ทาสีดำในร่อง แล้วทาสีทับหน้า

ผนังอิฐ

อาจลองผสมผสานเทคนิคหลายๆแบบเข้าด้วยกันก็ได้ เช่น การทาสีลงในร่องแล้วค่อยทาสีอื่นๆบนด้านหน้าของก้อนอิฐ เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ของผนังอิฐไปตามสไตล์หรือสีสันของการตกแต่ง เช่น การเลือกใช้สีขาว เทา ดำ เพื่อให้เข้ากับงานตกแต่งปูนเปลือยและกระเบื้องสีเทาที่เลือกใช้

2.8 ไม่ต้องทาสีสองด้านเหมือนกันก็ได้

ผนังอิฐ

เป็นการกำหนดพื้นที่การใช้งานที่แตกต่างกัน หรือสร้างลำดับการเข้าถึงที่แตกต่าง เช่น ผนังด้านหนึ่งอาจทำเป็นมุมนั่งเล่น อีกด้านหนึ่งอาจทำเป็นชั้นวางของที่มีสไตล์แตกต่างกัน โดยทำสีทุกด้านไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ไม่ผิดกติกา!!

2.9 ลบสีออกเพียงบางจุด

ผนังอิฐ

ทำให้ผนังอิฐยังคงดูคล้ายผนังอิฐเดิมๆในบางส่วน มีความวินเทจแต่ก็ไม่ดิบจนเกินไปโดยการลบสีออกแบบก้อนต่อก้อน

ลองทำ
ความยาก +

ทาสีบนผนังอิฐด้วยเทคนิคปกติ แต่ใช้ทินเนอร์เช็ดสีออกจากอิฐบางก้อน อาจลองทำเครื่องหมายไว้บนอิฐก้อนที่จะเช็ดก่อนทาสี เพื่อลองดูองค์ประกอบและการจัดวาง

2.10 ขัดออกแค่พอเรียบ

ผนังเก่า

สำหรับงานสีเก่าที่เริ่มมีคราบและรอยเลอะ เราสามารถให้ช่างใช้กระดาษทรายขัดให้ดูเรียบเนียนคล้ายการทำสีรองพื้นได้ ซึ่งเทคนิคนี้จะให้บรรยากาศเหมือนสตูดิโอศิลปะที่อยู่ระหว่างการทำงานอย่างไรอย่างนั้น

ลองทำ
ความยาก + +

ทำเหมือนกับการทำความสะอาดผนังก่อนทาสีใหม่ แต่หยุดที่ขั้นตอนการขัดแต่งก่อนการลงสีรองพื้น อาจให้ช่างขัดแต่พอดีไม่มากจนสีเก่าหายไปและลงน้ำยาเคลือบเงาทับ เพื่อถนอมลวดลายให้อยู่คงทนไปนานๆ

2.11 ปล่อยให้ล่อนโชว์เนื้อวัสดุ

ผนังเก่า

ผนังไม้เก่า

ไม้เก่าที่สีเริ่มลอกจะมองเห็นลายไม้เดิมๆได้เป็นบางจุด เทคนิคนี้ช่วยเสริมให้รู้สึกถึงความเก่าแก่ของของอาคาร เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังได้ดียิ่งขึ้น

ลองทำ
ความยาก +

ใช้แปรงทองเหลืองขจัดสีที่ล่อนออกแต่ยังไม่หลุดให้เกลี้ยงเกลาขึ้น จากนั้นจึงใช้กระดาษทรายละเอียดขัดเพื่อให้ลักษณะการลอกดูสม่ำเสมอมากขึ้น แล้วทาแล็กเกอร์เคลือบไม้ทับอีกทีเพื่อรักษาลวดลาย

2.12 ย้อมบางๆให้เห็นเรื่องราว

ผนังไม้เก่า

เป็นร่องรอยที่เกิดจากความชื้นและไม้เก่าที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน ทำให้เห็นลักษณะของการประกอบไม้และเน้นความสวยของโครงสร้างให้ดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ลองทำ
ความยาก + +

สามารถทำตามได้ไม่ยากโดยผสมสีย้อมไม้ให้จางกว่าปกติ แล้วนำไปทาที่ขอบของผนังและโครงสร้างให้สีชุ่ม เมื่อสีย้อมไม้แห้งดีแล้วจะดูเหมือนเป็นโครงสร้างไม้เก่า

3. คงสภาพผนังอิฐมอญ

3.1 สกัดบ้างเก็บบ้าง

ผนังอิฐ ผนังอิฐ

การสกัดผนังเพื่อโชว์แนวอิฐเป็นวิธีรีโนเวตสไตล์ลอฟต์ที่นิยมในปัจจุบัน แต่ไม่จำเป็นต้องสกัดผนังทั้งผืนก็ได้ อาจเลือกสกัดเพียงบางส่วนเพื่อสร้างลวดลายหรือเน้นพื้นที่บางมุมขึ้นมา เช่น ใช้เป็นฉากหลังของพื้นที่นั่งเล่น ก็ดูสวยเข้าที

ลองทำ
ความยาก + + +

ลองสกัดจุดเล็กๆเพื่อตรวจสอบสภาพกำแพงว่าเหมาะสมกับการโชว์แนวอิฐหรือไม่ โดยควรร่างแนวบริเวณที่จะสกัดให้แน่ใจก่อนด้วย จากนั้นจึงเริ่มสกัดโดยใช้สิ่วและค้อนค่อยๆตอกไปตามแนวที่ร่างไว้ เมื่อสกัดปูนออกเสร็จสิ้นให้ใช้ยาแนวคอนกรีตเติมในบางจุดที่ต้องซ่อมแซม แล้วจึงทาน้ำยาเคลือบผนังอิฐเพื่อความทนทาน

3.2 เก็บด้านดิบไว้เน้นรายละเอียด

ผนังอิฐ ผนังอิฐ

หากจะลองสกัดผนังทั้งผืนเพื่อโชว์แนวก้อนอิฐและเก็บผนังส่วนอื่นให้ดูเรียบร้อย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผสมผสานความเป็นลอตฟ์เข้ากับสไตล์มินิมัลได้อย่างลงตัว

4. หลากวิธีกับงานฉาบ

4.1 แสดงวัสดุใต้งานฉาบ

ผนังปูน ผนังปูนเปลือย

สำหรับงานฉาบ นอกจากการเล่นกับพื้นผิวแล้ว การปล่อยให้เห็นรอยไม้แบบหรือวัสดุที่อยู่หลังงานฉาบก็เป็นวิธีการเล่าเรื่องผ่านผนังได้อย่างน่าสนใจ

ลองทำ
ความยาก + + +

ระหว่างที่ฉาบอาจเลือกใช้วัสดุบางอย่างมากดบนผนังปูนเพื่อสร้างเรื่องราวเลยก็ได้ เช่น แผ่นไม้ ช่วยกดให้เกิดพื้นผิวที่ดูคล้ายการเข้าแบบ เหมือนในงานสถาปัตยกรรมแบบ Brutalism ในยุค 70 และสำหรับลวดลายที่คล้ายก้อนอิฐที่อยู่ภายในกำแพงฉาบ แท้จริงแล้วเกิดจากความชื้นที่สะสมอยู่ในผนังดันตัวออกมา โดยมักเกิดกับผนังปูนเก่า เราสามารถไล่ความชื้นโดยรอให้ผนังแห้งสนิท ซึ่งต้องเป็นช่วงที่ไม่มีฝนตกประมาณ 1 สัปดาห์และมีแดด จากนั้นจึงทาน้ำยาเคลือบเงาใสกันซึม เพื่อป้องกันความชื้นในอนาคต

4.2 ซ่อมแซมแต่พอดีโดยไม่ต้องเก็บงาน

ผนังปูนเปลือย

ในบางครั้งที่เราต้องการซ่อนงานระบบในผนังปูนเก่า  การสกัดร่องเพื่อเดินสายไฟหรือท่อน้ำก็อาจทำให้ต้องมาฉาบปูนปิดการเดินระบบเหล่านั้นอีก  หากจะลองปล่อยไว้แบบนี้เลยก็ดูเก๋ดีนะ ทั้งยังแสดงให้เห็นงานระบบที่ซ่อนอยู่ภายใต้กำแพงคอนกรีตด้วย

ลองทำ
ความยาก +

วิธีนี้ไม่ยาก เพียงแค่หลังจากรีโนเวตแล้วก็บอกช่างว่าไม่ต้องเก็บสี แต่อาจต้องเตือนช่างให้ฉาบเก็บรอยให้สักนิดหนึ่ง และเพื่อความเรียบร้อยอาจทาทับด้วยน้ำยาเคลือบปูนแบบใสทั้งเงาและด้านก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันความชื้นอีกครั้งหนึ่ง

4.3 สนุกกับพื้นผิวที่แตกต่าง

ผนังปูนเปลือย

เลือกใช้การสกัดผนังที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เป็นการเล่นกับวัสดุแบบเดียวในหลากหลายความรู้สึก ข้อดีของการสร้างพื้นผิวคือแสงและเงาที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ผนังเหล่านี้มีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว

5. สนิมสวย ใครว่าน่ารังเกียจ

เหล็ก

ท้ายสุดเป็นเทคนิคสำหรับงานเหล็ก โดยการ “ปล่อยให้ขึ้นสนิม” จะปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติหรือจะเร่งให้เกิดเร็วขึ้นด้วยน้ำอัดลมผสมน้ำเกลือก็ได้ รอยสนิมจะช่วยเชื่อมโยงงานเหล็กเท่ๆกับพื้นผิวธรรมชาติอย่างหิน ปูน และไม้ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

ลองทำ
ความยาก + +

อาจต้องใช้ความอดทนในการรอให้เกิดสนิม เริ่มต้นจากทำความสะอาดพื้นผิวของเหล็กที่ต้องการทำสนิม หากต้องการสนิมลายทางก็อาจต้องราดน้ำเกลือให้เป็นเส้น แต่หากอยากได้เป็นลายจุดก็อาจต้องสลัดน้ำเกลือใส่ (เพื่อความรวดเร็วอาจใช้กรดเกลือก็ได้ แต่ไม่แนะนำเท่าไหร่ เพราะใช้ยากและอันตราย)ปัจจุบันมีสีทำลวดลายเลียนแบบสีของสนิมธรรมชาติให้เลือกใช้เช่นกัน เมื่อได้สีและลวดลายที่พอใจก็หยุดปฏิกิริยาของสนิมด้วยการเคลือบแล็กเกอร์โดยการพ่นหรือทาก็ได้

ทั้งหมดนี้คือเทคนิคการเปลี่ยนผนังเก่าให้ดูเก๋าและน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม บางเทคนิคอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญบ้าง อยากให้ลองปลดปล่อยจินตนาการของคุณ แล้วลงมือทำดูนะครับ นอกจากจะได้ผนังสวยๆที่ถูกใจแล้ว ยังทำให้บ้านของเรามีสไตล์เป็นของตัวเองอีกด้วย

 

เรื่อง: “วุฒิกร สุทธิอาภา”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


ไอเดียแต่งผนัง ด้วยกรอบรูปสวยๆ

รวมไอเดีย ตกแต่งผนัง อย่างง่ายๆ ที่คุณก็ทำเองได้ไม่ต้องง้อมืออาชีพ