SUMMER MAINTENANCE CHECKLIST

หลายคนพากันส่ายหน้า เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว เพราะไทยแลนด์ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่า หน้าร้อนที่นี่ไม่ได้ร้อนธรรมดา แต่เรียกได้ว่า ร้อนมากเป็นพิเศษ คนยังร้อนขนาดนี้ บ้านจะร้อนขนาดไหน งานน้ีเราจึงขอนําเสนอวิธีเตรียมบ้านรับมือหน้าร้อนแบบชิลๆ สบายทั้งใจ สบายทั้งกาย และที่สําคัญยังสบายเงินในกระเป๋าสตางค์ ไม่ต้องตกใจกับค่าไฟฟ้าหรือค่าซ่อมบํารุงบ้านเหมือนปีท่ีผ่านๆ มา

 

01 คืนชีพให้งานไม้

เพิ่มความสดใสให้ผนังบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ไม้เอ๊าต์ดอร์ที่ซีดจางให้กลับมาสวยเหมือนใหม่อีกครั้งด้วยการขัดสีที่เสียหายออกจนหมด จากน้ันจึงขัดพื้นผิวให้เรียบแล้วทาสีย้อมไม้ลงไป ควรทาซ้ำไปมาอย่างน้อย 2 – 3 ครั้ง แต่ละช้ันควรทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และเมื่อถึงขั้นตอนทาสี ควรใช้สีน้ํามันหรือสีน้ําพลาสติกสําหรับงานไม้โดยเฉพาะ

 

02 เก็บเนี้ยบกันแมลง

เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้านท่ีทําขึ้นจากไม้จะเกิดการยืดหดตัว เกิดร่อง และกลายเป็นที่อยู่ของบรรดาแมลงตัวเล็ก ๆ แก้ปัญหาได้เองง่าย ๆ ด้วยการใช้ซิลิโคนอุดร่องไม้โดยเฉพาะ และควรอุดรอยต่อระหว่างวัสดุอื่น ๆ ด้วยซิลิโคนยาแนว พร้อมตรวจเช็กมุ้งลวดและซ่อมแซมบริเวณที่ขาดด้วยแผ่นซ่อมมุ้งสำเร็จรูปได้เลยทันที

 

03 ท่อน้ำใสไร้กลิ่น

ป้องกันท่อระบายน้ําหรือบ่อพักท่อน้ําทิ้งส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วยการหมั่นตรวจเช็กว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่ และเติมจุลินทรีย์ธรรมชาติลงในถังบําบัดทุกเดือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลาย และควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นสารเคมี เพราะจะไปทําลายเชื้อจุลินทรีย์ได้

 

04 ลอฟต์ร้าวๆ

เมื่อถึงหน้าร้อนเป็นไปได้ว่าผนังปูนของคุณจะเกิดรอยร้าวเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น หากเป็นการร้าวชนิดแตกบนผิวหน้าปูนฉาบ เมื่อเคาะแล้วเสียงยังแน่น สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ยาแนวประเภทเซรามิกโค้ตติ้ง หรือถ้ารอยแตกกว้างให้ใช้วัสดุประสาน Non-Shrink มาอุดก่อน แล้วค่อยทาสีทับหน้าตามปกติ แต่หากเป็นรอยร้าวที่มีแผ่นปูนล่อนออกมา แนะนําว่าต้องติดต่อช่างที่มีความชํานาญมาแก้ไขให้ เพราะหากเป็นกรณีเช่นน้ีจําเป็นต้องเลาะผนังปูนเดิมออกแล้วฉาบใหม่

 

05 ผนังสีลอก + คราบเขียว

“ผนังอิฐโชว์แนว” มักจะเกิดคราบตะไคร่จากหน้าฝนที่ผ่านมา แก้ไขโดยขัดทําความสะอาด แล้วทาน้ํายาเคลือบผนังป้องกันตะไคร่น้ํา ส่วน “ผนังปูนที่สีกะเทาะลอกล่อน” จากความชื้นนั้นต้องขูดสีออกให้หมด แล้วทาน้ํายาเคมีป้องกันความชื้น เพื่อช่วยให้เน้ือสียึดติดกับผนังได้ดีย่ิงข้ึน จากน้ันจึงทาสีรองพื้นปูนเก่า 1 รอบ และสีทับหน้า 2 รอบ

 

06 ฝ้า! ฉนวนชวนให้เย็น

โดยปกติฉนวนกันความร้อนจะมีอายุการใช้งาน 10 ปี ถ้าสภาพดีฉนวนจะไม่แนบติดไปกับฝ้า แต่หากต้องเปลี่ยนใหม่ แนะนําให้ติดฉนวนท่ีมีความหนา 6 นิ้ว ขึ้นไปซึ่งคุ้มค่ากว่าในระยะยาว ช่วยลดความร้อนเข้าสู่บ้านได้ดีกว่าและประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า หรืออาจพิจารณา เปลี่ยนฝ้าชายคาเป็นแบบมีช่องระบายอากาศก็ช่วยลดการสะสมความร้อนใต้หลังคาได้เป็นอย่างดี

 

07 พื้น! เย็นใจด้วยไอระเหย

พื้นคอนกรีตจะคายความร้อนออกมาในเวลากลางคืน นอกจากการปลูกต้นไม้ช่วยสร้างร่มเงา คุณยังสามารถลดการสะสมความร้อนของพื้นบริเวณเอ๊าต์ดอร์ได้ด้วยการปูบล็อกปูพื้นถนนที่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นของน้ําได้ดี ผิวหน้าจึงเย็นกว่าวัสดุปูพื้นทั่วไป 3 – 5 องศาเซลเซียส เมื่อแสงแดดมากระทบจะทําให้ความชื้นที่เก็บไว้ระเหยขึ้นไปช่วยให้รอบบ้านเย็นข้ึน

 

08 หน้าต่าง! เย็นไม่ให้ออก ร้อนไม่ให้เข้า

สําหรับหน้าต่างทางทิศใต้และทิศตะวันตก ควรเพิ่มกันสาดเฉียงทํามุม 45 องศา เพื่อช่วยลดแสงแดดที่จะส่องเข้ามาในบ้านได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเติมด้วยการติดผ้าม่านแบบโซลาร์ซันสกรีน หรือติดฟิล์มกรองแสงเคลือบหน้าต่าง ก็ล้วนแต่ช่วยกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ดีทั้งส้ิน

 

09 อาบน้ําเครื่องปรับอากาศ

การล้างเครื่องปรับอากาศทุก ๆ 6 เดือน และล้างแผ่นกรองอากาศทุกเดือนจะช่วยให้เครื่องปรับอากาศของคุณเย็นขึ้นถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ทุกฤดูร้อน การไฟฟ้านครหลวงจะจัดกิจกรรมรับล้างเครื่องปรับอากาศตามบ้านในราคาเพียงเครื่องละ 300 บาทเท่านั้น (ไม่รวมเติมน้ํายาแอร์) หากสนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง mea.or.th

 


 

เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : แฟ้มภาพนิตยสาร room
คอลัมน์ : best home solution
room life : March 2016 No.02