บุญเสริม เปรมธาดา

บทสนทนาในห้องทำงานกลางแจ้ง แหล่งแรงบันดาลใจของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา แห่ง BANGKOK PROJECT STUDIO

บุญเสริม เปรมธาดา
บุญเสริม เปรมธาดา

“ที่อยุธยา ทุกครั้งที่ผมมองไปที่เศษอิฐ เศษปูน มันไม่ใช่เป็นแค่ซาก แต่จริงๆ มันคืออนาคตของพวกเราทุกคน”

Studio Visit ของเราในครั้งนี้ คุณจก – ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาเราออกมาพูดคุยกันที่อยุธยา ไม่ใช่เพราะความฮิตของละครบุพเพสันนิวาสแต่อย่างใด แต่ที่นี่เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณจกในการทำงานซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอยุธยาในหลายๆ โครงการ

 

คุณจกมีความประทับใจในบรรยากาศของสถานที่นี้ ที่วัดธรรมิกราช จ.อยุธยา เป็นเสมือนแหล่งสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ

room : ก่อนอื่น ทำไมคุณถึงได้เลือกวัดธรรมิกราช จ.อยุธยา ในการสัมภาษณ์ครับ

Boonserm Premthada : “(หัวเราะ) ผมไม่ได้ทำงานในสตูดิโอ ไม่ได้ทำงานในห้องที่ติดแอร์ ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศที่สวยงาม แต่ผมทำงานในทุกๆ ที่ อาจจะนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ที่ผมทำแล้วผมมีความสุข ทุกครั้งที่ผมมาที่นี่ผมก็มีความสุขกับการนั่งตรงนี้ แล้วก็นั่งคิดงาน คิดอะไรไปต่างๆ จริงๆ แล้วที่อยุธยาก็เป็นเหมือนสตูดิโอที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งแรงบันดาลใจของผม รวมทั้งให้กำลังใจด้วย ทุกครั้งที่ผมมองไปที่เศษอิฐ เศษปูน มันไม่ใช่เป็นแค่ซาก แต่จริงๆ มันคืออนาคตของพวกเราทุกคน ฉะนั้นสตูดิโอออกแบบในความเห็นของผมคือมันควรจะเปิดกว้าง ทุกคนสามารถจะย้ายไปได้ทุกที่ สถาปนิกควรจะย้ายไปทุกที่ ชีวิตเราอยู่กลางแจ้ง มากกว่าอยู่ในร่ม”

มุมด้านหลังของวัดธรรมิกราชที่ร่มรื่นเป็นส่วนผสมของสถาปัตยกรรมเก่า ภูมิทัศน์ และเรื่องราวของวัฒนธรรมเบื้องหลัง

เชื่อว่าหลายๆ คนที่เคยไปอยุธยา อาจได้เคยแวะเวียนไปยัง The Wine Ayutthaya ร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยามากันบ้าง โดยปัจจุบันร้านอาหารซึ่งคุณจกได้ออกแบบไว้แห่งนี้ ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ในการมาเยือนเมืองเก่าที่วันนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แนวคิดในการออกแบบเป็นการให้ความเคารพต่อทำเลสถานที่ที่ตัวสถาปัตยกรรมไปตั้งอยู่ โดยมีความเป็นศาลามากกว่าสิ่งก่อสร้างซึ่งบดบังทัศนียภาพของริมแม่น้ำ

room : ลักษณะการทำงานของคุณเป็นอย่างไรครับ

Boonserm Premthada : “แนวทางของเราเรียกว่า Totality Design ก็คือการออกแบบที่หลอมรวมทุกอย่าง คือเราไม่ได้แยก แบบอันไหนคือสถาปัตย์ อันไหนคืออินทีเรียร์ อันไหนคือการทำโปรดักท์ หรือกราฟิก หรืออันไหนเป็นแลนด์สเคป อันไหนเป็น Urban Design คือบางสิ่งบางอย่างมันอาจจะไม่เริ่มขึ้นจากสถาปัตยกรรมก็ได้

“โดยส่วนใหญ่แล้วผมจะเริ่มต้นจากโปรแกรมก่อน โดยโปรแกรมที่เราได้มาก็จะมาจากการวิจัยข้อมูล ซึ่งเราทำออกมาก่อน การเห็นโปรแกรมทั้งหมดก็จะทำให้เรารู้ว่า เราจะทำอะไรก่อนหรือหลัง แล้วมันก็จะเริ่มไปตามขบวนการของมันในแต่ละขั้นตอน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา
คุณจก-ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio ผู้ออกแบบสถาบันกันตนา และ The Wine Ayutthaya

room : แนวคิดในการออกแบบ The Wine Ayutthaya เป็นอย่างไรครับ

Boonserm Premthada : “The Wine มีแนวคิดที่ว่า Respect to the site เราพยายามทำงานที่เคารพสถานที่ เนื่องจากสถานที่นั้นเป็นสถานที่ที่อยูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำอย่างไรให้คนได้สามารถเข้าไปสัมผัสเส้นขอบฟ้า หรือภูมิทัศน์ดั้งเดิมซึ่งเป็นภูมิทัศน์ของชาวริมน้ำอยุธยา เราก็เลยทำอาคารให้มันเหมือนศาลา มากกว่าที่จะเน้นไปทำตัวอาคารสถาปัตยกรรม ฉะนั้นคนที่เข้าไปก็จะรู้สึกว่าตัว The Wine ไม่ได้ไปบังแม่น้ำ หรือวัดที่อยู่ตรงข้าม”

The Wine Ayutthaya
The Wine Ayutthaya ออกแบบอย่างเคารพในสถานที่ตั้ง โดยการให้อาคารมีลักษณะความเป็นศาลามากกว่าการเป็นตัวอาคาร
The Wine Ayutthaya
พื้นที่ภายในของร้าน The Wine Ayutthaya ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในฐานะงานออกแบบและการตอบรับจากผู้มาเยือนอยุธยา

อ่านต่อ: The Wine Ayutthaya – จิบไวน์เคล้างานดีไซน์ในกรุงเก่า


room : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม

Boonserm Premthada : “ผมคิดว่ามันเป็นวิวัฒนาการและมันก็เป็นประวัติศาสตร์ มันบอกเล่าเรื่องราวและที่มา ไม่ใช่แค่บอกเล่าแต่เฉพาะเรื่องวิธีการก่อสร้าง หรือศิลปะ หรือความงาม แต่บอกถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อของคนในยุคนั้นๆ ซึ่งถ้าจะมาอยู่ในยุคปัจจุบัน มันก็อาจจะไม่ใช่ อาจจะไม่เหมาะ เพราะถ้าเราทำแบบนั้นเราจะกลับกลายเป็นว่าไปลอกเลียนของเดิม แต่สิ่งที่คนปัจจุบันควรจะมองเห็นคือมันมีคุณค่า แต่เราจะสืบสานคุณค่าอย่างนั้นต่อไปอย่างไร ให้มันเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

“อย่างที่เรามาที่นี่ ผมแค่รู้สึกว่าที่นี่สงบ และสวยงาม ผมไม่ได้มองในส่วนสถาปัตยกรรม สิ่งที่เราเห็นมองไปรอบๆ แบบนี้มันคือบรรยากาศ ในตัวดั้งเดิมของอาคาร แน่นอนเราจะไม่ได้เห็นอิฐที่เป็นผิวเปลือยแบบนี้ แต่สิ่งที่เราเห็น ณ ตอนนี้คือเวลา กาลเวลา และอดีต”

// ก่อนที่ผมจะไปออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี
ผมต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของทุกคนก่อน //

room : คุณสอนอะไรให้แก่เด็กรุ่นใหม่ๆ บ้าง

Boonserm Premthada : “ผมมักจะยกคำพูดของท่าน ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า คุณต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนที่จะเรียนศิลปะ คือผมคิดว่ามันเป็นคำที่เป็นอมตะ และเป็นคำที่ดี ผมก็มักจะยกคำนี้ขึ้นมาสอน และผมก็จะสอนตัวผมเองด้วยเสมอ ว่าในการที่ผมจะออกแบบอะไรก็ตาม ก่อนที่ผมจะไปออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี ผมต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของทุกคนก่อน สถาปัตยกรรมมันไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ สถาปัตยกรรมเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความเป็นมนุษย์ ในการสร้างอาคารจริง มันก็เป็นการสอนคนอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งโลกได้มาเรียนรู้ การเรียนการสอนจึงไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเสมอไป”

สถาบันกันตนา Bangkok Project Studio
สถาบันกันตนา งานออกแบบของ อ.จก ที่เชื่อในการกระตุ้นความความคิดสร้างสรรค์จากงานสถาปัตยกรรม สร้างด้วยอิฐหลายแสนก้อนจากโรงอิฐในแถบอยุธยา-อ่างทอง ช่วยให้ชุมชนโรงอิฐแบบดั้งเดิมยังคงอยู่ (ภาพ : Bangkok Project Studio)

เรื่อง สมัชชา วิราพร
ภาพ อนุพงษ์, ศุภกร, Bangkok Project Studio


คุยกับสถาปนิกชุมชน ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ แห่ง CASE Studio ในบ้านหลังใหม่เอี่ยม


ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ผู้สร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้สถาปัตยกรรมคู่ธรรมชาติ สถาบันอาศรมศิลป์