ย่านเก่า…ทำไมเราไม่เลือกเก็บ? – ย้อนมองกรณี ชุมชนป้อมมหากาฬ กับ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ

ยืดเยื้อกันมานานกว่า 20 ปี กับกรณีการไล่รื้อ “ ชุมชนป้อมมหากาฬ ” หรือที่แต่เดิมเรียกกันในชื่อ “ตรอกพระยาเพชรฯ”

หลังเดินทางมาถึงจุดจบในวันที่ 25 เมษายน 2561 เมื่อชาว ชุมชนป้อมมหากาฬ คนสุดท้ายต้องเดินออกจากป้อมฯ ก่อนบ้านทั้งเก่าและใหม่ของพวกเขาจะเหลือเพียงซากรอวันขนย้ายเศษไม้และสังกะสีออกจากพื้นที่ในเร็ววัน

การไล่รื้อชุมชนชาวป้อมฯ ทำให้เกิดความขัดแย้งซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดการเข้าไปอนุรักษ์ ลบล้าง หรือรื้อฟื้นสถานที่ใดที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก การเลือกเก็บหรือไม่เลือกเก็บสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ย่อมตามมาด้วยคำถามมากมาย อย่างน้อยคือข้อสงสัยที่ว่าใช้เกณฑ์หรือคุณค่าใดมาเป็นตัวชี้วัด และให้ใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจ

ชุมชนป้อมมหากาฬ
ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ

ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือสถาปนิกและนักประวัติศาสตร์ผู้ทำวิจัยเรื่องบ้านโบราณในชุมชนมานานก่อนการไล่รื้อครั้งล่าสุด และเป็นส่วนหนึ่งที่เสนอให้เก็บบ้านเก่าไว้คู่กับวิถีชีวิตชุมชนเพื่อทำให้เป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ร่วมกับหลายองค์กรภาคสังคม รวมถึงเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมหลายแห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นเวลาไม่น้อย

ในด้านการอนุรักษ์ คุณค่าที่นักวิชาการมองเห็น จึงดูจะไม่ใช่คุณค่าเดียวกันกับฝั่งทางการ แม้ว่าทั้งคู่จะอ้างการจัดการย่านเก่าด้วยการพัฒนาเหมือน ๆ กัน อาจารย์ชาตรีจึงน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่จะให้คำตอบกับเราได้ว่า ในทัศนะของนักวิชาการ คุณค่าใดกันที่เราควรเชิดชูให้กับย่านเก่าของเมืองที่พวกเราอยู่อาศัย และภาพลักษณ์แบบใดกันแน่ที่เรากำลังจะได้เห็นจากย่านเก่าของเราทุกคน

ชุมชนป้อมมหากาฬ
บนลานหลังกำแพงเมืองเก่า สิ่งที่ยังหลงเหลือหนึ่งในนั้นคือศาลพระภูมิ ในขณะที่บ้านพักอาศัยโดยรอบถูกรื้อจนหมดคงเหลือแต่เศษขยะที่ปะปนบนเนินดิน

เลือกรื้อแทนรักษา

“แพตเทิร์นการใช้ชีวิตของชาว ชุมชนป้อมมหากาฬ สืบทอดมาจากอดีต ที่เราเรียกว่าเป็น “ชุมชนชานกำแพงพระนคร” ในเมืองโบราณต่างๆ ที่มีกำแพงเมืองก็มักจะมีคูน้ำล้อมรอบ จึงมักมีการตั้งชุมชนและบ้านเรือนอยู่รายรอบเช่นเดียวกับที่นี่ ซึ่งในทางกายภาพเหลือองค์ประกอบการตั้งชุมชนตามแบบของผู้คนสมัยก่อนครบถ้วนอยู่ที่เดียวแล้ว

“กรณีป้อมฯ มันเกิดจากความเข้าใจผิด ๆ ของคนทั่วไป ที่มักมองว่าคนพวกนี้เป็นผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะ แต่ความจริงแล้วคุณต้องมองกรณีนี้ให้ต่างไปจากกรณีบุกรุกอื่น  ๆ เพราะชุมชนป้อมฯ เป็นที่ที่มีโฉนดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 – 6 ทุกคนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นไอเดียของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ เขาอยากจะสร้างสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วจึงไปเล็งว่าพื้นที่นี้ควรได้รับการปรับปรุง และมองว่าที่นี่เป็นเหมือนชุมชนแออัด จึงไปขายไอเดียการสร้างสวนสาธารณะกับรัฐบาล รัฐบาลยุคนั้นก็เห็นชอบ เริ่มต้นความพยายามด้วยการซื้อที่ดินโดยการให้เงินกทม. แต่คุณรู้ไหมว่า 20 – 30 ปีผ่านไป ชาวบ้านหรือเจ้าของมีการขายที่ออกไปแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ทางการก็เลยบอกว่า ไม่ไหวแล้ว ต้องใช้การเวนคืน

“ในกรณีของป้อมฯ การเวนคืนตั้งอยู่บนทัศนะการพัฒนาเมืองที่ผิด นักวิชาการที่ทำเรื่องเมืองเก่าก็พูดกันมาเยอะแล้วว่า แผนพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ล้าสมัย เพราะฉะนั้นคำถามก็คือเมื่อคุณเริ่มจากการเวนคืนด้วยแผนที่คุณรู้อยู่แล้วว่าผิด คุณไม่คิดจะแก้ไขหรือ ทำไมคุณต้องดันทุรังเรื่องการเวนคืนต่อไปอย่างไม่มีวันจบ…”

ชุมชนป้อมมหากาฬ
ซากของ “บ้านเลขที่ 99” ที่ยกย่องกันว่า “สำคัญที่สุด” ในชุมชนป้อมฯ

ภาพย่านเก่าที่ (ไม่) ควรเป็น

“การทำสวนสาธารณะร้อยเปอร์เซ็นต์มันไม่เหมาะที่จะมาตั้งอยู่ในที่นี้อยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะคุณไม่มีทางรื้อกำแพงเมือง มันเป็นโบราณสถาน พอคุณไม่รื้อ การเข้ามาในพื้นที่จึงต้องเข้ามาผ่านประตูเล็ก ๆ สี่ช่อง ตรงหัวมุมเป็นป้อม มีคลองขนาบด้านใน มีคลองตัดอีกด้าน เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้ “อันตราย” ที่สุด อยู่ลึกเข้าไป ปิดทึบ คุณจะทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่แห่งการก่ออาชญากรรมหรือ แค่มองในแง่กายภาพพื้นฐานแค่นี้ก็ไม่ควรนำมาทำสวนสาธารณะตั้งแต่แรกแล้ว

“ในแผนของผม ผมไม่ได้เสนอให้ชุมชนอยู่ไปอย่างนั้น ๆ นะ แผนนี้ตั้งอยู่บนฐานทางกฎหมายที่ว่า พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็น “พื้นที่สาธารณะ”  ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินแน่นอน เพราะฉะนั้นสิทธิ์ที่ชาวบ้านอยู่จึงเป็นสิทธิ์คล้ายผู้เช่า หรือเป็นผู้ที่ต้องทำกิจกรรมตามแผน ด้วยการทำให้เป็น “Living Museum” เพราะฉะนั้นคนอยู่อาศัยต้องเสียสละชีวิตตัวเองครึ่งหนึ่ง ในการมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม แลกกับการที่เขาได้อยู่ที่เดิม มีกิจกรรมหมุนเวียนตามเทศกาล ปรับปรุงบ้าน 4 – 5 หลังเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ จัดสถานทางเดินให้ดี  เก็บเสื้อผ้าหรือสิ่งที่รกตาต่าง ๆ ให้เรียบร้อย มันต้องมีเกณฑ์อะไรบางอย่างในการปรับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จ แต่ถ้าดูจากแผนนี้ ผมคิดว่านี่จะเป็นโมเดลที่ดึงคนเข้ามาในพื้นที่ได้มากกว่าแน่ ๆ

“แน่นอนว่าโมเดลของผมมันก็ค่อนข้างอุดมคตินะ ผมก็คิดว่ามันยาก ถ้าได้เริ่มเราก็ค่อยๆ ปรับๆ ไป แต่คนที่จะเข้ามา คือต้องพร้อมที่จะมาดู “อะไรแบบนี้” จริงๆ

“…ผมไม่ได้บอกว่า โอ้โห! นี่คือสิ่งสุดยอด เราควรจะไปถ่ายรูปของพวกนี้ แต่มันเป็นวิถีชีวิต ที่เพียงแต่ไม่เหมือนกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนทั่วไปในปัจจุบัน”

ชุมชนป้อมมหากาฬ
ชาวชุมชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน รวมตัวกันบนลานกิจกรรมในวัน “อำลา มหากาฬ” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561

เห็นคุณค่าที่หลากหลายในการอนุรักษ์

“ถ้าพูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือเพดานเรื่องคุณค่าในการอนุรักษ์ เริ่มจาก วัด-วัง เป็นกระแสที่หนึ่ง กระแสที่สองก็คืออาคารแบบตะวันตก กระแสที่สามที่กำลังพูดกันอยู่ก็คือชุมชนและอาคารชาวบ้าน…

“แผนของคณะกรรมการกรุงฯ ตั้งอยู่บนฐานว่าถ้าเราอยากอนุรักษ์โบราณสถานที่ไหน เราก็เคลียร์พื้นที่โดยรอบนั้นเพื่อจะได้ “มอง” โบราณสถานได้ถนัดตา  ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ “Visual” มาก ๆ เพราะฉะนั้น ชุมชนป้อมมหากาฬก็เลยโดน เพราะมาจากเกณฑ์การเลือกที่อยู่ใต้เพดานทางความคิดว่า อะไรคือมีคุณค่า อะไรไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพูดมาตลอดก็คือนโยบายการอนุรักษ์แล้วหวังผลในทางการมองอย่างเดียว มันเชยแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยน…

สังคมควรรับรู้กรณีการจัดการเมืองเก่าของเราอย่างไร

“ผมคิดว่าการพัฒนาเมืองเก่าในปัจจุบัน คนมักจะคิดว่ามีรูปแบบการพัฒนาแบบหนึ่งที่เป็นสัจธรรม เช่น เมืองเก่าควรจะลดปริมาณรถ เพิ่มเลนจักรยาน เพิ่มสวนสาธารณะออกกำลังกาย ปรับทุกอย่างให้ดูสะอาด ถามว่าดีหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่นี่มันคือแพตเทิร์นของวิถีชีวิตชนชั้นกลางเท่านั้น มันไม่ใช่สัจธรรม นี่คือวิธีการหนึ่งในการพัฒนาเมือง แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน ในเมืองที่มีความซับซ้อน มีคนหลายกลุ่ม หลากวัฒนธรรม เขาอาจไม่ได้เรียกร้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้

“เราต้องทำลายเพดานที่มันผิด ๆ พวกนี้ ทุกคนมีวิธีคิดบนพื้นฐานวิถีชีวิตของตัวเอง ประสบการณ์ และรสนิยมของตัวเอง แต่เผอิญว่าในประเทศไทยหรือในกรุงเทพฯ ยังถูกครอบงำด้วยชนชั้นกลางมากเกินไป

“คุณควรเริ่มมองคนอื่นบ้าง คนอื่นเขาไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบคุณนะ อย่าใช้มาตรฐานที่ตัวเองคิดว่าดีมาเป็นตัวชี้วัด  แล้วคิดไปว่ามันเป็นสัจธรรม จริง ๆ มันไม่ใช่”

Did you know? 

มารู้จัดพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (LIVING MUSEUM)
มีแนวคิดตั้งอยู่บนการนำเสนอประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอย่างเป็นธรรมชาติ และเป็นวิถีที่ดำรงอยู่จริงโดยไม่ปรุงแต่ง เหตุผลก็เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมอันเก่าแก่ให้ดำเนินต่อไปอย่างที่เป็นมา โดยไม่แช่แข็งหรือปะหน้าด้วยกิจกรรมหรือภาพลักษณ์ที่เพิ่งสร้าง สำหรับพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬมีความพยายามนำเสนอพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มความร่วมมือในชื่อ “Mahakan Model” เป็นผู้หยิบยกเรื่องราวของผู้คนในพื้นที่มาเล่าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสันนิษฐาน
ว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งกำเนิดลิเกของสยาม ภูมิปัญญาการปั้นเศียรพ่อแก่ซึ่งผู้ปั้นยังคงประกอบอาชีพนั้นอยู่ การทำกรงนกเขาชวาด้วยมือ ประกอบกับบรรดาบ้านไม้ที่มีทั้งรูปแบบโบราณซึ่งย้อนไปได้ถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ไปจนถึงรูปแบบวิถีชีวิตสมัยใหม่ พลวัต และการผลัดเปลี่ยนผู้คนซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นวิถีธรรมชาติและเป็นวิถีธรรมดาของชุมชน ซึ่งผู้ที่ต้องการอนุรักษ์เสนอให้เก็บเรื่องราวนี้ไว้คู่กับโบราณสถานที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้


เรื่อง: กรกฎา

ภาพ: ศุภกร, กรกฎา


อ่านต่อ

ขลุ่ยขลุ่ยบ้านลาว ประวัติศาสตร์ทางดนตรีที่ยังมีลมหายใจ