ความทรงจำแห่งบ้าน

              แม้คอมพิวเตอร์จะมีหน่วยบรรจุความจำได้มากเพียงใด ก็ไม่สามารถบันทึก “ความทรงจำ” ได้อย่างสมบูรณ์ นั่นเพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและจะหยั่งรากลึกลงไปในความคิดและตัวตนของคนคนนั้นตลอดไป … เช้าวันนี้อากาศแจ่มใส ความทรงจำใหม่ๆกำลังจะเกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้ บ้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำในวันเก่าๆ ความสุขและรอยยิ้มยังคงอบอวลอยู่ภายในบ้านใหม่ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงบ้านเดิมได้อย่างแยบยล 
บ้านก็มีความทรงจำ
เจ้าของบ้านหลังนี้คือ คุณวสันต์ เจริญนวรัตน์ ตัดสินใจสร้างบ้านใหม่บนพื้นที่เดิม โดยเริ่มจากการให้ คุณพจน์ – วรพจน์ เตชะอำนวยสุข และคุณสุชาติ เตชางาม จาก Monotello Company Limited เป็นผู้ออกแบบและตกแต่งภายในบ้าน เดิมทีมีการลังเลว่าจะทุบแล้วสร้างใหม่หรือจะแค่ปรับปรุงดี แต่สุดท้ายสถาปนิกแนะนำให้ใช้วิธีผสมผสานกันระหว่างการคงบางอย่างไว้กับการสร้างใหม่อย่างสมดุล เพราะบ้านเดิมมีอายุกว่ายี่สิบปีแล้ว แน่นอนว่ามีเรื่องราวและความทรงจำอยู่ทั่วทุกมุมของบ้าน โดยเฉพาะบันไดเวียนกลางบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในบ้านคุ้นเคย สมัยก่อนบันไดเวียนแบบนี้เป็นที่นิยมมาก แม้ว่าจะใช้งานลำบากกว่าบันไดแบบตรงเล็กน้อย แต่บันไดนี้ก็เป็นเหมือนภาพจำของบ้านหลังนี้ไปแล้ว 
คุณพจน์เลือกเก็บบันไดเวียนไว้เป็นจุดเด่นของบ้านตามเดิม อย่างน้อยเมื่อเดินเข้ามาในบ้าน บันไดนี้ก็เป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาที่ช่วยเชื่อมโยงถึงบ้านหลังเดิมและความรู้สึกคุ้นเคยกลับมาได้อีกครั้ง โครงสร้างบันไดเกือบทั้งหมดยังเป็นของเดิม (คอนกรีตเสริมเหล็ก) มีการเสริมโครงสร้างบางส่วนเพื่อความแข็งแรง เปลี่ยนวัสดุให้เข้ากับยุคสมัย ปรับเปลี่ยนราวบันไดให้ดูโปร่งและใช้งานได้สะดวกขึ้น ผนังต่างๆทุบทิ้งและจัดพื้นที่ภายในใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ส่วนหลังคาเป็นโครงสร้างใหม่ทั้งหมด เพราะของเดิมนั้นปิดทึบและทำให้บ้านดูอึดอัด

ปรับเปลี่ยนเพื่อความสมดุล
การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เพื่อสร้างความสมดุลและรองรับกิจกรรมที่เปลี่ยนไป พื้นที่ภายในบ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่พักผ่อน ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร ครัว ห้องน้ำ ห้องนอน และส่วนบริการ ชั้นสองและสามเป็นห้องนอนและสตูดิโองานศิลปะขนาดเล็ก 
เดิมบ้านนี้เคยมีบันได 2 อัน ได้แก่ บันไดเวียนกลางบ้านและบันไดส่วนบริการ แต่ก่อนบันไดเวียนนี้มีการใช้งานน้อยกว่า เพราะบันได
ส่วนบริการอยู่ใกล้กับที่จอดรถและทางเข้าบ้านมากกว่า เมื่อทำบ้านใหม่สถาปนิกจึงอยากให้ทุกคนในบ้านไปพบกันบ้าง จึงรวบให้มีบันไดเวียนนี้เพียงอันเดียว อย่างไรก็ตามสมาชิกในบ้านต้องเติบโตและมีการขยับขยายพื้นที่ต่างๆ การออกแบบจึงต้องเผื่อไว้สำหรับอนาคตด้วย ชั้นสามจึงทำเป็นห้องนอนพร้อมสตูดิโอทำงานซึ่งเป็นความต้องการหนึ่งของลูกที่รักการทำงานศิลปะ ในแต่ละห้องนอนจึงเหมือนบ้านหลังย่อยที่มีส่วนนั่งเล่น ที่นอน ห้องน้ำ และมุมทำงาน เพราะเจ้าของบ้านต้องการให้ลูกๆมาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นที่สุด

วัสดุสื่อความหมาย
“จากการได้พูดคุยและสัมผัสตัวตนของเจ้าของบ้าน ก็รู้สึกได้ถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นสุภาพบุรุษเต็มตัว การเก็บบันไดเก่าไว้ การให้ทุกคนอยู่ภายในบ้านอย่างอบอุ่นและเป็นส่วนตัว เป็นคุณสมบัติที่ผู้นำครอบครัวควรจะมี ผมจึงเลือกใช้วัสดุที่มีความอบอุ่นและดูน่าเคารพในเวลาเดียวกัน” คุณพจน์เล่าถึงแนวคิดในการเลือกวัสดุให้ฟัง ผนังหินแทรเวอร์ทีน (Travertine) ที่กรุภายนอกบ้านให้ความรู้สึกอ่อนโยนแต่เข้มแข็ง ผนังไม้เซาะร่องบริเวณโถงบันไดดูหรูหราและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย มีการนำสีทองแดงมาใช้ในหลายส่วนของบ้าน ทั้งราวบันไดเวียนและมือจับในส่วนต่างๆ เพราะสีนี้ให้ความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่แต่ดูไม่โบราณ

รอบตัวคือเพื่อนบ้าน
ที่ตั้งของบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของญาติพี่น้อง การออกแบบรั้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ สถาปนิกและเจ้าของบ้านเห็นตรงกันว่ารั้วบ้านไม่ควรเป็นผนังทึบสูง เพราะดูตัดขาดจากโลกภายนอกเกินไป จึงเลือกใช้ ผนังต้นชาดัดปิดล้อมส่วนของบ่อน้ำหน้าบ้าน สร้างพื้นที่ปิดล้อมที่ดูเป็นธรรมชาติแทน เมื่อมองออกไปก็จะเห็นผนังสีเขียวสดและยังพอมองทะลุออกไปเห็นความเคลื่อนไหวหน้าบ้านได้ด้วย ระหว่างการออกแบบเจ้าของบ้านยังคิดถึงมุมมองของเพื่อนบ้านด้วยว่าจะถูกบดบังจากการสร้างบ้านใหม่ของตนเองหรือไม่ บ้านหลังนี้จึงมีลักษณะค่อยๆไล่ระดับสูงขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบอย่างรอบด้าน และคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ 

การใช้งานได้จริงและอยู่สบาย
สถาปนิกต้องการให้บ้านหลังนี้อยู่สบายและสามารถใช้งานได้จริงในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณโถงส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร
ซึ่งระยะจากพื้นถึงฝ้ามีความสูงสองชั้น เพราะบริเวณนี้มีผู้ใช้งานเยอะ การมีฝ้าสูงจึงทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่อึดอัด และยังช่วยในการถ่ายเทอากาศร้อนออกไปสู่ภายนอกได้เป็นอย่างดี ต่างจากบ้านเดิมซึ่งเป็นบ้านสไตล์คลาสสิก มีช่องเปิดน้อยและค่อนข้างทึบตัน เมื่อบ้านหลังใหม่มีรูปลักษณ์ดูโมเดิร์น อย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ ก็เอื้อต่อการทำช่องเปิดขนาดใหญ่ได้มากขึ้น แต่ต้องมีการบังแดดที่ดีด้วยเช่นกัน บริเวณโถงนั่งเล่นจึงทำชายคาซึ่งเป็นระแนงอะลูมิเนียมยื่นยาวออกมาเพื่อเพิ่มร่มเงาให้แก่ตัวบ้าน ส่วนครัวก็มีการเพิ่มขนาดให้เหมาะกับการใช้งานที่มากขึ้น โดยยึดตำแหน่งห้องครัวของบ้านเดิมไว้ เพื่อความสะดวกในการเดินงานระบบ 
บ้านหลังนี้แสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงบ้านเป็นทางเลือกที่ดีในการได้มาซึ่งบ้านที่น่าอยู่ เราไม่จำเป็นต้องทุบทำใหม่ทั้งหมด ทุกอย่างมี
ทางออกที่พอดีสำหรับบ้านเก่า เพราะอย่างน้อยบ้านเก่าก็มีความทรงจำดีๆคงอยู่มากมาย เลือกที่จะเก็บบางส่วนเพื่อให้บางส่วนที่เหลือในชีวิตได้มีพลังต่อไป

เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ศุภกร ศรีสกุล