พิษณุ นําศิริโยธิน

เยือนสตูดิโองานไม้ จุดเริ่มต้นดีไซน์ยั่งยืนของ พิษณุ นำศิริโยธิน

พิษณุ นําศิริโยธิน
พิษณุ นําศิริโยธิน

ตาม room ไปเยี่ยมเยือนสตูดิโองานไม้สุดสงบใจกลางแดนอีสานของ พิษณุ นำศิริโยธิน หรือ “ครูณุ” ของนักศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สถาบันอาศรมศิลป์ เขาคือนักออกแบบผู้มุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ และความหลงใหลในวัสดุ “ไม้” ผ่านแนวคิดการสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน

“ผมเชื่อว่าระหว่างเก้าอี้ของผมกับต้นไม้ โลกเราต้องการต้นไม้มากกว่า”

สำหรับบทบาทของนักออกแบบ ซึ่งสมควรต้องสร้างตัวตนผ่านงานออกแบบ แนวคิดนี้อาจฟังดูย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย แต่มันคงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ พิษณุ นำศิริโยธิน คนทำงานไม้ที่พยายามอย่างที่สุดที่จะอยู่ร่วมกับป่าไม้ธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

พิษณุ นำศิริโยธิน
สตูดิโอกลางแจ้งท่ามกลางผืนดินร้อนระแหงที่มิเคยแล้งไม้

จากวัยเด็กที่เติบโตคลุกคลีกับเครื่องมือช่างในบ้าน จบการศึกษาด้าน Visual Art และเป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งจนร่างกายและจิตใจเสียสมดุล แต่หลังจากได้รู้จักกับผลงานของศิลปินงานไม้ อย่าง George Nakashima, Sam  Maloof, James Krenov และอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน จนนำมาสู่การลงมือศึกษางานไม้อย่างจริงจัง ทำให้ค้นพบตัวตนที่แท้จริง ซึ่งได้รับการสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านทุกสัมผัสบนเนื้อไม้

“ผมชอบกระบวนการของงานไม้อย่างไม้พะยูง ผมชอบกลิ่นหอมหวานอ่อน ๆ เวลาเราไส ผมชอบสัมผัสของไม้สัก ผมโฟกัสเรื่องสัมผัสระหว่างทำงานมากกว่าเรื่องฟอร์มหรือเรื่องจำนวนการผลิต เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องพิเศษ บางทีก็หมกมุ่นอยู่นานมาก จนต้องเร่งรัดตัวเอง ผมเชื่อว่ามันเป็นความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ช่าง’ กับ ‘ไม้’ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนเราแค่นำไม้มาใช้งาน แต่ไม่รู้จักเขาเลย ไม่รู้จักกลิ่นของเขา ไม่รู้จักสัมผัสขณะใช้เวลาลงมือขัดไม้ด้วยตัวเอง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์สุดฟินของงานไม้เลยก็ว่าได้”

พิษณุ นำศิริโยธิน

มากกว่าทศวรรษที่ครูณุสั่งสมประสบการณ์ในงานไม้ และตอนนี้ก็กำลังถ่ายทอดทุกองค์ความรู้ของเขาในวิชา “หัตถกรรมการสร้าง” สู่นักศึกษาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นปีที่ 1 สถาบันอาศรมศิลป์ การเรียนรู้งานไม้ของจริงจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ เกิดทักษะ เป็นเหมือนข้อมูลพื้นฐานที่พวกเขาจะนำไปใช้ในการออกแบบได้อย่างสมเหตุสมผลได้ในอนาคต

“ถ้าเรามีประสบการณ์กับวัสดุ เครื่องมือ และขั้นตอนการทำงานจริง ๆ เราจะทำงานออกแบบได้เหมาะสม ตัวอย่างถ้าคนหนึ่งจะออกแบบเก้าอี้ไม้ เขามีความรู้เรื่องเก้าอี้ดี แต่ไม่รู้จักเสี้ยนไม้ ไม่เคยไสไม้หรือทำข้อต่อไม้เลย เขาก็จะทำได้แค่สองส่วน คือคิดเรื่องขนาดสัดส่วนของเก้าอี้ และคิดในเชิงกราฟิกด้านรูปทรงหรือสไตล์ของเก้าอี้ แม้จะดีไซน์ออกมาสวย แต่ท้ายที่สุดมันอาจจะไม่ใช่งานออกแบบที่เกี่ยวกับไม้เลย อาจใช้วัสดุอื่นดีกว่าเพราะข้อต่อแบบนี้ไม้ทำไม่ได้ เกิดเศษไม้ทิ้งมหาศาล เป็นดีไซน์ที่สร้างความลำบากให้โลกมาก”

พิษณุ นำศิริโยธิน
กิ่งไม้ติ้วปอกเปลือก ตากแดดให้แห้งก่อนประกอบเป็นเก้าอี้

โลกที่ครูณุว่า คือโลกที่คนทำงานไม้พยายามอย่างที่สุดที่จะอยู่ร่วมกับป่าไม้ธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย โลกที่เราสามารถตัดไม้ใช้งานอย่างรู้คุ้มค่าไปพร้อม ๆ กับรอชื่นชมต้นไม้เติบโต ซึ่งเป็นที่น่าดีใจที่อุดมการณ์นี้สามารถทำออกมาให้เป็นรูปธรรมได้ เห็นได้จาก Rush Chair” โปรเจ็กต์เก้าอี้ใหม่ล่าสุดของเขาที่ทำงานร่วมกับ จุฑามาส บูรณะเจตน์ และปิติ อัมระรงค์ จากสตูดิโอ o-d-a แทนที่จะใช้ไม้แปรรูป พวกเขาเลือกใช้กิ่งไม้จากการตัดสางป่า (การลิดกิ่งต้นไม้เพื่อตกแต่ง) มาประกอบเป็นเก้าอี้ด้วยวิธีการเข้าไม้แบบดั้งเดิม สานที่นั่งด้วยเส้นใยธรรมชาติย้อมคราม หากคำจำกัดความของ “ดีไซน์ที่ยั่งยืน” หมายถึงเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นที่นั่งสบาย ซ่อมแซมง่าย หาชิ้นส่วนอะไหล่ได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน Rush Chair คงเป็นเก้าอี้ที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศอย่างแท้จริง

พิษณุ นำศิริโยธิน
Rush Chair ที่กำลังใกล้เสร็จสมบูรณ์ด้วยงานถักทอเชือกฝ้ายย้อมครามฝีมือเพื่อนบ้านของครูณุ
พิษณุ นำศิริโยธิน
Rush Chair งานออกที่ครูณุ ทำงานร่วมกับ o-d-a

“ถ้าเราทำงานออกแบบโดยไม่มองแต่ความต้องการของเราฝ่ายเดียว แล้วหันไปสนใจสิ่งแวดล้อมบ้าง รูปแบบของงานจะเปลี่ยนไปเอง ผมไม่ได้โฟกัสที่เทคนิคการผลิต แต่โฟกัสที่ตัวไม้ เครื่องมืออะไรก็ได้ ที่ทำให้งานไม้ของเราเกิดความหมายขึ้น อย่างงาน Rush Chair เราคิดเรื่องการรักษาต้นไม้ไว้ แต่ไม่ได้คิดเรื่องงานช่างเลย ดังนั้นเทคนิคแบบโบราณจึงเหมาะสมอย่างมาก เพราะเป็นการใช้พลังงานที่น้อย ตอนที่ผมทำงานชิ้นใหญ่มาก เนี้ยบมาก ๆ ก็สิ้นเปลืองมาก ทั้งเวลา ทั้งเครื่องมือ จริง ๆ เราทำแล้วได้อย่างใจเรา แต่มิติด้านอื่น ๆ กลับไม่โอเคเลย”

พิษณุ นำศิริโยธิน
Shape Horse ม้านั่งที่ครูณุต่อขึ้นเพื่อใช้ในการยึดท่อนไม้ สำหรับกระบวนการปอกเปลือกด้วย Draw Knife

ในยุคที่ “Wood Craft” คืออีกปรากฏการณ์ที่น่าจับตาในโลกการออกแบบ เห็นได้จากสตูดิโอเฟอร์นิเจอร์ไม้ของดีไซเนอร์สตาร์ตอัพที่พยายามนำเสนอความแตกต่างด้วยงานฝีมือ ไปจนถึงเวิร์กชอปงานไม้ที่เกิดขึ้นมากมาย และได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป บางทีอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเทรนด์การออกแบบเท่านั้น แต่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปถึง “สภาวะจิตใจ” ของผู้คนยุคนี้ ในโลกที่ค่านิยมการใช้ชีวิตกลับตาลปัตรสิ้นเชิง และ “ไม้” ได้กลายเป็นสายใยแห่งธรรมชาติที่เข้ามาช่วยเยียวยา

“ตอนนี้ความเป็นไปในสังคมมันเอนเอียงไปทางการใช้ความคิดสูง เราทำงานกันโดยใช้แต่สมองตลอดเวลา สังคมอุตสาหกรรมที่อิ่มตัว สินค้าที่ดูเหมือนกันไปหมดอาจจะโอเค แต่สำหรับคนไม่ใช่ ถ้าทุกคนเหมือนกันหมด เราจะหาตัวตนไม่เจอ ซึ่งนี่คือความเจ็บป่วยทางใจของคนยุคนี้ เราจึงต้องการสมดุล และงานคราฟต์ก็เป็นการแสดงออกแบบหนึ่ง การสัมผัสไม้ ช่วยให้เราเชื่อมโยงกับธรรมชาติ สร้างความแตกต่างในตัวตน บางคนพบว่าการทำงานด้วยมือไม่ใช้เครื่องจักร ได้ทำให้ร่องรอยชีวิตของเขาปรากฏชัดอยู่ในผลงาน เขาไม่สงสัยในชีวิตอีกแล้ว ไม่ตั้งคำถามว่าเราคือใคร คราฟต์คือการเยียวยาอย่างหนึ่ง”

พิษณุ นำศิริโยธิน
กิ่งไม้ติ้วจากชายป่าที่ได้จากการออกสำรวจกับเพื่อนบ้านในท้องถิ่น

ทุกวันนี้ครูณุย้ายเวิร์กชอปชั่วคราวจากสตูดิโองานไม้เครื่องมือทันสมัยย่านพุทธบูชาในกรุงเทพฯ ไปทำงานเชิงทดลองกับชาวบ้าน และเลือกใช้วัสดุอย่างไม้ในท้องถิ่นภายในสตูดิโอกลางแจ้ง ณ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่นี่เขาชวนชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการทำนาปีมาทำ Rush Chair ซึ่งได้รับการพัฒนาดีไซน์อย่างต่อเนื่องโดย o-d-a นอกเหนือไปจากความตั้งใจจะสร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชน ทุกก้าวย่างที่ครูณุขอให้เพื่อนบ้านพาออกหากิ่งไม้ชายป่า ล้วนแฝงด้วยการสื่อสารเกี่ยวกับทัศนคติการพิทักษ์ป่าอย่างแนบเนียน เพราะเขาเชื่อว่าคงมีแต่ความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้เท่านั้นที่จะช่วยสร้างค่านิยมของการอนุรักษ์ได้ในระยะยาว

พิษณุ นำศิริโยธิน

 “เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสไปเดินป่ากับอาจารย์จุลพร นันทพานิช ที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อาจารย์พาทุกคนไปเรียนรู้ต้นไม้กว่าร้อยต้น ผมถามตัวเองว่าเราจะรู้จักทุกต้นไปทำไม สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่าต้นไม้ในป่ามีอยู่มากมาย แต่เราไม่รับรู้การมีอยู่ของมัน เราจึงไม่ให้ความหมาย ไม่สนใจ เหมือนคนที่เราไม่รู้จัก เจอกันเราก็ไม่ได้คิดอะไร ดังนั้นการที่อาจารย์พาไปรู้จักต้นไม้ต่าง ๆ จึงเป็นเหมือนการขยายขอบเขตการรับรู้ ต่อไปเราก็จะใช้เป็น ปลูกเป็น รู้ถึงความสำคัญของแต่ละต้น”

“ผมเชื่อว่า ระหว่างเก้าอี้กับต้นไม้ โลกเราต้องการต้นไม้มากกว่า ต้นไม้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากกว่างานออกแบบของผมมากนัก ดังนั้นถ้าเราใช้ไม้อย่างตระหนักถึงความหมายของชีวิตต้นไม้แต่ละต้น มีระบบการออกแบบและผลิตอย่างประณีตมันก็เป็นงานไม้ที่มีคุณค่า”


เรื่อง MNSD

ภาพ นันทิยา

 

ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ผู้สร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้สถาปัตยกรรมคู่ธรรมชาติ สถาบันอาศรมศิลป์