ประติมากรรมไม้ไผ่เปลี่ยนสี ในเทศกาลดนตรี THAIBREAK FESTIVAL

ควันหลงจาก Thaibreak Festival เทศกาลดนตรี electronic ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครอบรอบ 20 ปี โดยมีผองเพื่อนนักดนตรีที่รักในเพลงแนวเดียวกันกว่า 500 ชีวิตจากทั่วโลก เข้าร่วมปาร์ตี้เท้าเปล่าบนหาดทรายขาวของเกาะหมาก จังหวัดตราด

Thaibreak Festival

“Thaibreak Festival เป็นเทศกาลดนตรีของกลุ่มนักดนตรี electronic ชาวเยอรมันที่ส่วนใหญ่ใช้เวลามาพักผ่อนที่ประเทศไทย จนเป็นที่มาของชื่อว่า Thaibreak หรือมาพักเบรกที่ประเทศไทย ปีนี้คือการจัดงานฉลองครอบรอบ 20 ปี เหมารีสอร์ท เหมาเรือ จัดปาร์ตี้ มีดีเจที่ดูจากไลน์อัพของศิลปินจะเป็นดีเจเบอร์ต้นๆ ในแนวดนตรีนี้มาเล่นกันยาวตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 11 เช้าของอีกวัน” คุณตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกหนุ่มแห่ง ธ.ไก่ชน อธิบายภาพรวมของงานปีนี้ให้เราฟังคร่าวๆ ซึ่งเขาเองได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นปีแรกในเทศกาลดนตรีนี้

Thaibreak Festival
คุณตั๊บ ธ.ไก่ชน

ประติมากรรมไม้ไผ่ที่เมื่อตกกลางคืนจะเปลี่ยนสีและลวดลายไปตาม Visual Graphic เป็นการทำงานร่วมกันของสองนักสร้างสรรค์ต่างรูปแบบ นำโดยคุณตั๊บ สถาปนิกเจ้าของผลงานประติมากรรมไม้ไผ่ และคุณกบ-พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม หรือ กบ B.O.R.E.D แห่ง Kor.Bor.Vor:The Labour Party Of Visual Creation ผู้สร้าง Projection mapping หลากสีสันลงบนประติมากรรมไม้ไผ่ ใช้เป็นเวทีขนาดเล็กๆ สำหรับดีเจได้ร่ายมนต์แห่งเสียงดนตรี

“รูปร่างของงานเป็นไอเดียที่ได้มาจากครีบของปลาสิงโต วิธีการทำงานคือผมจะทำงานออกมาในลักษณะประติมากรรม แล้วพี่กบจะเอา Visual เข้ามาประกอบให้เข้ากับตัวรูปร่างของงานนี้” สถาปนิกหนุ่มอธิบาย

“ผมเองไม่เคยไปเกาะหมากมาก่อน ไม่รู้จักคนในพื้นที่ จึงพยายามทำชิ้นส่วนเหลี่ยมเป็นโมดูลาร์ หรืองานระบบชิ้นส่วนขนาดเท่ากันจำนวนเยอะๆ ประกอบจากโรงงานไปให้มากที่สุด เพื่อการทำงานที่ง่าย ไปใช้เวลาหน้างานในเกาะให้น้อยที่สุด เพราะผมไม่รู้ว่าจะมีใครช่วยผมไหม และผมจะหาวัสดุก่อสร้างได้จากที่ไหนบนเกาะ ผมพยายามใช้ของที่เป็นออแกนิคทั้งหมด จะพยายามไม่ใช้งานสังเคราะห์ เวทีต่อขึ้นมาเหมือนแพตามเขื่อนที่เกิดจากการต่อกันของถังพลาสิกสีฟ้าหลายๆ ใบ นั่งร้านเหล็กเป็นนั่งร้านเช่า เราใช้ผ้าฝ้าย ไม้ไผ่ และการต่อด้วยเชือก พยายามไม่เจาะหรือตัดอะไร เพราะเมื่อเสร็จงานจะให้คนในเกาะเป็นคนจัดการชิ้นส่วนนี้ไป ไม่ว่าเขาจะนำกลับไปตกแต่งรีสอร์ทของเขา หรือจะเอาไปทำงานต่อ หรือทำงาน Thaibreak ต่อปีหน้า ทุกชิ้นต้องใช้ประโยชน์ได้

Thaibreak Festival Thaibreak Festival

“ไม้ไผ่ที่นำมาใช้เป็นไม้เหลือใช้จากงานสถาปัตยกรรมเนื่องจากสเป๊กไม่ได้ทั้งเรื่องขนาดและสีผิว ทั้งหมดกองอยู่โดยไม่ได้ใช้งานประมาณสามปี ซึ่งไม้ไผ่ของเราผ่านการทรีตเม้นต์มาแล้ว ต่อให้นานกว่านี้มอดก็ไม่กิน โดยเฉพาะถ้าเราเก็บในที่ร่ม ไม่โดนแดดฝน สามารถใช้ใหม่ไปได้เรื่อยๆ”

“ตามเทศกาลต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังงานจบก็คือขยะ เพราะฉะนั้นการที่ชาวบ้านเดินมาหาแล้วถามว่าขอได้ไหม ขอทุกชิ้นจนไม่เหลือเพื่อไปใช้ประโยช์ ขยะที่เกิดขึ้นมันเป็นศูนย์ มันก็เข้ากับคอนเซ็ปต์ของเกาะ คือเราไม่ควรเอาขยะไปถม”

“เรื่อง Projection Mapping ลักษณะลายจะมีหลายแบบ ให้สีมีความเป็นทะเลล้อไปกับปลาสิงโต บ้างเป็นเส้นและลายที่ตอบโจทย์กับตัวแพทเทิร์นของประติมากรรมไม้ไผ่สามเหลี่ยม บางลายเป็นใบไม้แบบทรอปิคัลที่พี่กบอยากใส่เข้าไป เป็นคอนเซ็ปต์ให้ออกมาทะเลกับทรอปิคัล เข้าใจง่ายทั้งชาวบ้านและฝรั่ง คือเราไม่ได้ทำเพื่อคนที่ซื้อบัตรมาใบละ 4 พันนะ แต่เราทำเพื่อให้ชาวบ้านเขาได้เห็นว่างานไม้ไผ่บ้านๆ ไม่ได้ราคาถูกเสมอไปเมื่อเราเอา Projection Mapping ไปฉาบ ชาวบ้านก็ค่อนข้างตื่นเต้นกับงานที่เห็น เพราะศิลปะหรืองานดีไซน์กับเกาะหมากยังดูค่อนข้างห่างไกล งานนี้น่าจะเปลี่ยนมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อไม้ไผ่ไปอีกแบบได้พอสมควร”

เรื่อง : Nawapat D. เรียบเรียง
ภาพ : ธนพัฒน์ บุญสนาน

Wonderfruit เทศกาลที่การสร้างสรรค์คู่ขนานไปกับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม