อยู่กับปัจจุบัน

               “ผังเมือง” ฟังดูอาจเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน แต่ลองคิดเล่นๆว่าขณะที่เราอาศัยอยู่ในบ้าน บ้านอยู่ในชุมชน ชุมชนอยู่ในเมือง ก็จะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าผังเมืองเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน เมืองที่ดีต้องมีการออกแบบผังเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อช่วยให้ผู้อาศัยในเมืองนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่เรื่องที่อยู่อาศัยไปจนถึงการเดินทาง ครั้งนี้เรามีโอกาสพาคุณผู้อ่านไปชมบ้านเรือนในเมืองปาตัน (Patan) เมืองเก่าของประเทศเนปาล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปะและการวางผังเมืองที่ดี รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกด้วย 

      เมืองปาตันหรืออีกชื่อคือลลิตปูร์ (Lalitpur) อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางตอนใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ภายในเมืองนี้เป็นที่ตั้งของจัตุรัสราชวังปาตัน (Patan Dubar Square) เทวสถาน วิหาร และเจดีย์งดงามมากมาย ซึ่งรอบๆ สถานที่เหล่านี้จะแวดล้อมด้วยชุมชนขนาดย่อม และบ้านพักอาศัยในชุมชนส่วนใหญ่จะได้รับสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีการครอบครองตามระดับชนชั้นวรรณะ เช่น บ้านที่อยู่ใกล้กับทางเข้าพระราชวังจะเป็นบ้านของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก่อสร้างพระราชวัง โดยทั่วไปที่พักอาศัยในเมืองนี้จะมีลักษณะ
เป็นตึกแถวสามชั้นเรียงยาวติดกันเป็นพืด โดยวางผังให้มีการปิดล้อมทั้งสี่ด้าน เพื่อทำให้เกิดคอร์ตหรือลานตรงกลาง เหมือนเช่นบ้านของครอบครัว
Mr.Jitendra Gopal Shrestha ที่เราพามาชมหลังนี้ เจ้าของบ้านเล่าถึงความเก่าแก่ของบ้านให้ฟังว่า
      “บ้านหลังนี้ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อายุประมาณ 350 ปีแล้ว เดิมใช้เป็นที่พักอาศัย ครอบครัวเราอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่คอร์ตกลางที่
สองเพิ่งสร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 บริเวณที่อยู่นี้เรียกว่า ‘Yata Chhen’ ซึ่งหมายถึงพระราชวังทางทิศตะวันตกในเนวารี
       “หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 1934 ส่วนหลักๆของ Yata Chhen ก็ถูกทำลาย และได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ดู
ร่วมสมัยขึ้น บ้านหลังนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจนต้องสร้างใหม่ขึ้นมา”
       บ้านหลังนี้มีทั้งหมดสี่ชั้น (รวมชั้นใต้หลังคาด้วย) แบ่งพื้นที่เป็นสองด้าน (ด้านตะวันตกและด้านตะวันออก) ซึ่งสามารถมองเห็นคอร์ตสาธารณะได้ทั้งสองฝั่ง ชั้นหนึ่งเป็นห้องครัวและพื้นที่ใช้สอยทั่วไป ชั้นสองเป็นห้องพักของครอบครัวและห้องครัว ชั้นสามและชั้นสี่ (ห้องใต้หลังคา) เป็นห้องพักเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเช่า อารมณ์ก็คล้ายๆโฮมสเตย์นั่นเอง
       คุณ Jitendra ผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ศึกษาเรื่องการอนุรักษ์และดูแลเมืองเก่าในเชิงลึก เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ในปี 2000
เขาได้รวมกลุ่มกับเจ้าของบ้านในละแวกนี้เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัย โดยเริ่มจากบ้านของตัวเองก่อน เป็นการทำในรูปแบบเชิงอนุรักษ์ พยายามคงวัสดุตกแต่งแบบเดิมให้ได้มากที่สุด
       คุณ Jitendra ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงอาคารเก่าต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน กล่าวคือต้องให้ผู้คนในชุมชนนี้ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง
และมีจิตสำนึกที่เห็นคุณค่าของอาคารเก่าอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันรัฐบาลมักเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับพระราชวังและเทวสถานเท่านั้น
       “ผมไม่ปฏิเสธว่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณสมบัติมีความสำคัญมาก แต่ชุมชมที่อยู่รอบๆสถานที่เหล่านี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็น
แหล่งกำเนิดของชีวิตชีวาในย่านนี้และตลอดไป หากปราศจากสิ่งนี้แล้ว จิตวิญญาณของเมืองนี้ก็เป็นเพียงแค่โครงสร้างที่เหลือทิ้งไว้เท่านั้น”
       คุณ Jitendra ยังได้ปรับปรุงบ้านอีกหลังในย่าน Swotha ซึ่งอยู่ห่างจากพระราชวังปาตันเพียงแค่หนึ่งบล็อกเป็นโรงแรมบูติกเล็กๆสี่ชั้น (รวมห้องใต้หลังคา) ให้บริการห้องพัก 6 ห้อง ที่นี่มีอายุประมาณ 70 ปี แต่ออกแบบใหม่โดยนำความทันสมัยและความสะดวกสบายของเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกสบายภายใต้งานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งอิงวัสดุและรูปแบบของโครงสร้างแบบเดิมไว้ให้มากที่สุด อาทิ ไม้ที่ใช้
สร้างโรงแรมก็เป็นเศษวัสดุจากอาคารเดิมที่โดนรื้อทำลาย จึงไม่ต้องใช้ไม้ที่ลักลอบตัดจากป่า เช่นเดียวกับอิฐ ทำให้ไม่ต้องใช้อิฐที่มาจากโรงงาน เพราะบางแห่งอาจมีการใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงของใช้ภายในโรงแรมที่คุณ Jitendra ตั้งใจจะไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสบู่ ผ้าม่าน ผ้าปู  พรม เก้าอี้ ไปจนถึงผักที่เสิร์ฟ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกทั้งสิ้น
              การเปลี่ยนแปลงของเมืองและบริบทโดยรอบอาจทำให้บรรยากาศแบบเมืองเก่าแปรเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เมื่อเกิดความเข้าใจร่วมกันแล้ว การยอมรับในความเป็นเมืองเก่าควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเมือง ก็จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเมืองที่ดีได้ไม่ยาก

รนภา นิตย์
คุณวัชระชัย ไตรอรุณ